คำนิยม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือปัญหาโลกร้อน ถือเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่อาจร้อนแรงที่สุดในศตวรรษที่ 21 เรื่องโลกร้อนเป็นประเด็นด้านความมั่นคงแบบใหม่ (non-traditional security issue) ที่มีทั้งมิติของความร่วมมือกันแก้ปัญหาของประชาคมโลก และความขัดแย้งอันเกิดจากการช่วงชิงและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทั้งภายในและระหว่างรัฐด้วยกัน
ปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจากการกระทำโดยตรงของมนุษย์ และมีผลกระทบข้ามอาณาเขตแห่งรัฐ การจัดการปัญหาดังกล่าว ในภาพหนึ่ง จึงเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงมิได้กับการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการบริโภคของผู้คน ซึ่ง ปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงโดยตรงกับความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐฯ เห็นว่า การมีพันธกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของตนลดลง เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างจีนหรืออินเดีย
ขณะที่ในอีกภาพหนึ่ง ผลของปัญหาโลกร้อน ตั้งแต่การก่อให้เกิดความแห้งแล้ง การเพิ่มขึ้นของโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้แต่การที่น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น ล้วนกระทบต่อความมั่นคงด้านต่าง ๆ ของผู้คน รวมทั้งยังกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐด้วย เช่น ประเทศหมู่เกาะมีความไม่มั่นคงเพราะปัญหาโลกร้อนอาจทำให้ประเทศของตนจมอยู่ใต้น้ำ รัฐชายฝั่งจะต้องจัดการกับปัญหาทางกายภาพ และเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแห่งรัฐ หรือที่อยู่อาศัยของผู้คนภายในประเทศ นอกจากนั้น ประเทศต้นน้ำ/ปลายน้ำจะแย่งน้ำกันอย่างรุนแรง ซึ่ง ทั้งหมดนี้คือความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐ และกำลังเกิดขึ้นโดยทั่วไป สถานการณ์ที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ภาพสองภาพที่ซ้อนกันนี้อธิบายสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งและอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่ากว่าที่พิธีสารเกียวโตจะมีผลบังคับใช้ เวลาได้ผ่านไปถึง 13 ปี (ตั้งแต่ ค.ศ.1995 ที่พิธีสารเกียวโตได้รับการรับรองและมีการเปิดให้ลงนาม จนถึงปี ค.ศ. 2008 ที่ช่วงพันธกรณีแรกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเริ่มต้น) นอกจากนี้ การเจรจาเพื่อทำความตกลงฉบับใหม่หลังการสิ้นสุดลงของช่วงพันธกรณีดังกล่าวในปี ค.ศ. 2012 ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรลุผล ทั้งที่เริ่มอย่างจริงจังมาตั้งแต่การประชุมที่บาหลีเมื่อปลายปี ค.ศ. 2007
งานศึกษาเรื่อง “นโยบายและจุดยืนเรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกา” ของคุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ช่วยอธิบายความเป็นไปของภาพที่ซ้อนกันดังกล่าวภายใต้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การที่คุณบัณฑูรฯ ได้ศึกษาท่าทีของสหรัฐฯ ผ่านการทำความเข้าใจระบบการเมือง ซึ่งรวมถึงแนวนโยบายของประธานาธิบดีทั้ง 6 สมัย ที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ จึงให้ภาพการเชื่อมโยงนโยบายภายในกับนโยบายต่างประเทศได้อย่างกระจ่างชัดและสมบูรณ์
ในงานศึกษา คุณบัณฑูรฯ ยังได้นำเสนอสาเหตุและสภาวะแวดล้อมทางการเมือง รวมทั้งบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโต จึงเป็นประโยชน์ต่อการประเมินทิศทางและแนวโน้มของความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจาก สหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก แต่เป็นประเทศที่ไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต ย่อมจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จของการบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการปัญหาโลกร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผมเห็นว่า การที่คุณบัณฑูร ได้พยายามศึกษาวิจัยและวิเคราะห์เรื่องโลกร้อนจากมุมมองทางรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นประโยชน์ต่อภาควิชาการ เพราะการศึกษาประเด็นดังกล่าวผ่านมุมมองที่แตกต่างกัน จะช่วยสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันดำเนินงาน เพื่อผลักดันและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศต่อไป
ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ
มิถุนายน 2553