คำนำ
วาระของประชาคมโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเข้าสู่การเจรจาช่วงสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2552 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ในการหาข้อสรุปถึงความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ
เป็นที่คาดคะเนว่าจะมีมาตรการและกลไกใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังพ.ศ. 2555 เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกหรือบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกในรายสาขา การส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อประเทศไทย หรืออาจจะมีผลให้ประเทศไทยต้องกำหนดท่าทีที่ชัดเจนขึ้นเพื่อการตอบรับหรือตอบโต้ต่อมาตรการใหม่ๆ ที่ประชาคมโลกคาดหวังให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการชะลอการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น
เนื้อหาของหนังสือ "กลไกใหม่แก้ปัญหาโลกร้อน : แบบสมัครใจ กับ แบบรายสาขาการผลิต" เป็นข้อมูลบางส่วนของโครงการวิจัยการศึกษากลไกที่ยืดหยุ่นของพิธีสารเกียวโต หลัง พ.ศ. 2555 ที่มีนัยต่อการกำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ภายในประเทศไทย เพื่อสังเคราะห์ผลกระทบต่อแรงจูงใจในการลงทุนโครงการ Clean Development Mechanism สำหรับผู้ประกอบการไทย และผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย รวมถึงต่อการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย
หนังสือเล่มนี้เป็นลำดับที่ 4 ของชุดโครงการวิจัย "การพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)ประสานจัดการงานวิจัยการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นการเจรจาความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจมีผลกระทบต่อประเทศไทย สกว.หวังว่าจะช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจต่อประเด็นการเจรจาและการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนในกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้เจรจา ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการ และสาธารณชน
(ศาสตราจารย์ ดร. สวัสดิ์ ตันตระรัตน์)
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พฤศจิกายน 2552
สนใจหนังสือสามารถติดต่อ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)