มวลน้ำก้อนใหญ่ที่เข้าปกคลุมพื้นที่ได้ทำลายล้างทุกอย่างที่ขว้างหน้าพังพินาท ไม่เว้นแม้กระทั่งสิ่งที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้นมาปรุงแต่งโลก ต้นไม้นานาพันธุ์ก็ล้วนพากันล้มตายจากไปพร้อมสายน้ำที่ค่อยๆ เหือดแห้งจากผิวดิน ทิ้งเพียงซากเน่าเหม็นไว้เป็นอนุสรณ์
. แต่ก็ต้องประหลาดใจกับกลไกของระบบนิเวศ อย่างพื้นที่ย่านฝั่งธนบุรีที่ยังคงสภาพเป็นสวนล้อมเมืองใหญ่ ถึงพืชพันธุ์ที่ปลูกกันด้วยน้ำพักน้ำแรงจะล้มตายกันไปหมด หรือสายน้ำจะพัดพาปลาเลี้ยงในท้องร่องให้หลงทิศหลงทาง แต่เมื่อสถานการณ์น้ำกลับคืนสู่สภาวะปกติ ผ่านเวลาไปไม่กี่คืนธรรมชาติก็ค่อยๆ คืนทรัพยากรบางประเภทสู่ถิ่นฐานเดิม และดูเหมือนว่าจะมอบความอุดมสมบูรณ์มากกว่าก่อนเสียด้วย
ตามเทือกสวนไร่นาหลังน้ำลดต้นกล้วย, ต้นมะม่วง ฯลฯ ที่ปลูกไว้ก็ค่อยๆ เน่าตายทั้งหมดเพราะสวนตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังสูงนานกันเป็นเดือนๆ แต่พอน้ำลดก็ค่อยๆ มีต้นหญ้าขึ้นบนคลุม มิหนำซ้ำบางพื้นที่ยังมีหิ่งห้อยทอแสงระยิบระยับในยามค่ำคืนเต็มไปหมด หรือตามท้องร่อง ลำคลอง ที่เคยเป็นเพียงคูน้ำโล่งๆ ก็หนาแน่นไปด้วยดอกบัว ผักตบชวา ดีไม่ดีก็มีสมาชิกใหม่ปลานานาพันธ์เข้ามาอาศัยอีก
เชื่อว่าในอีกหลายๆ พื้นที่เอง ก็พบความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเช่นกัน เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น...มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้สังคมเริ่มตื่นตระหนกในเรื่องภัยพิบัติ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวาง คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งธรรมชาติก็ได้รับความเสียหายไปตามๆ กัน
ราวกับเป็นสัจธรรมที่มีเกิดก็ย่อมมีดับเป็นวัฎจักรที่เวียนวนไม่รู้จักจบสิ้น แม้ธรรมชาติจะสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากเพียงใดแต่ก็ยังคงดำเนินไปตามวิถีของมันต่อไป รศ.วศิน อิงคพัฒนากุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่าปกติธรรมชาติจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา อย่างหลังเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาจะเห็นว่าในหลายๆ พื้นที่ต้นไม้ใหญ่ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก แต่พอน้ำลดกลับสู่สภาวะปกติธรรมชาติค่อยๆ ดำเนินไปตามกลไกของมัน
“ปรากฎกาณ์แบบนี้เรียกว่าเป็นการทดแทนทางธรรมชาติ สมมุติว่าพื้นที่มันโดนทำลายล้างไปหมดแล้ว มันก็จะค่อยๆ ฟื้นสภาพกลับมา แต่ว่ามันไม่ใช่อยู่ๆ ไม้ใหญ่จะมาได้เลยมันต้องมีการปรับสภาพคืนมาก่อน โดยธรรมชาติพื้นที่ป่ามันก็จะมีไม้วัชพืชพวกนี้เข้ามาก่อน เพราะว่ารระบบรากของพวกหญ้าระบบรากมันตื้น การปรับตัวมันเก่งกว่าเป็นพืชอายุสั้น มันก็เลยปรับตัวถ้าสังเกตดูดีๆ ในพื้นที่ใดก็ตามโอกาสที่วัชพืชหญ้าจะบุกรุกเร็วกว่าพวกไม้ใหญ่ทั้งหลาย การปรับตัวของพวกไม้เล็กจะแพร่กระจายได้เร็วกว่า เริ่มมาจากไม้เล็กๆ ก่อนแล้วก็แป็นไม้พุ่ม ค่อยๆ สะสมๆ พอถึงจุดๆ พอเข้ามามันก็จะมีเรื่องของอุณภูมิเรื่องความชื้น พอถึงจุดๆ หนึ่ง พวกลูกไม้ของไม้เมล็ดไม้ของไม้ใหญ่มันก็จะโปรยลงมา แต่ตอนแรกต่อให้จะโปรยลงมามันยังไม่ได้ปรับสภาพไม่ได้ก็ไม่รอด มันต้องให้สภาพแวดล้อมพวกนี้นี้ปรับสภาพไปถึงระยะหนึ่ง เมื่อดูดซึมเก็บความชื้นไว้ในดินได้มากขึ้นเรื่อยๆ พอวันดีคืนดี เมล็ดไม้ใหญ่มาลงก็ขึ้นได้เพราะความชื้นในดินมีแล้ว มันเป็นการทดแทนธรรมชาติมีอยู่แล้ว”
เหล่านี้คือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เวลา เพียงแต่ว่าเราอาจยังมองข้ามเพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัว บางพื้นที่ยังมีสัตว์บางประเภทที่หายไปหลายสิบปีกลับคืนมา อย่างสวนย่านฝั่งธนฯ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุน้ำท่วม ก็มีหิ่งห้อยปรากฏขึ้นอย่างหนาตา หรือธรรมชาติกำลังฟื้นฟูระบบนิเวศคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่มนุษย์ รศ. วศิน อธิบายเพิ่มเติมว่า
“มันยังตอบฟันธงว่าเป็นความอุดมสมบูรณ์คืนมาไม่ได้ อาจจะเป็นทำนองว่าปัจจัยต่างๆ มันมีพอ เมื่อก่อนมันก็เคยมีหิ่งห้อย พอมันมีปุ๊บแต่มีช่วงหนึ่งเราอาจจะเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรรค์ ปัจจัยต่างมันอาจจะเปลี่ยนไปทำให้หิ่งห้อยทำให้หิ่งห้อยไม่สามารถมีชีวิตอยู่ตรงนั้นได้ แต่พอมันมีเรื่องน้ำเข้ามา ณ เวลานี้น้ำกลับมา ปัจจัยต่างๆ มันพร้อมมันก็กลับมาได้ แต่ว่ามันเป็นแค่ชั่วคราว พอถึงเวลาน้ำแห้งความชื้นในอากาศความชื่นในแหล่งน้ำมันน้อย พวกนี้มันอยู่ไม่ได้ วันดีคืนดีมันก็หายอยู่ดี เพราะเรื่องแหล่งน้ำสภาพบรรยากาศ สภาพสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้ถาวร ปัจจุบันมันไม่ได้ถาวรเหมือนเมื่อก่อน”
บทเรียนครั้งใหญ่ทางธรรมชาติกำลังสอนให้มนุษย์รู้จักการปรับตัวและสร้างสิ่งทดแทนความสูญเสียเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ การที่ธรรมชาติทำลายตัวเองและสร้างขึ้นใหม่นั้นเป็นวัฎจักรที่ไม่รู้จบ แต่วัฎจักรการทำลายล้างธรรมชาติโดยฝีมือมนุษย์คงเป็นเรื่องที่ควรยุติลงเสียที
ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000052670