จากประสบการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาครัฐต่างรู้ว่า ความพร้อมของข้อมูลและสารสนเทศ ก็คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น…หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แผนปฏิบัติการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ที่มี ’ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ก็คือ “การจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” หรือ “ดาต้า แวร์เฮ้าส์” ที่ประธาน กบอ. ท่านนี้ บอกว่า ข้อมูลน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ จะผ่านการคัดกรองจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติแห่งนี้ ก่อนที่จะถูกส่งตรงสู่ศูนย์บัญชาการ หรือวอร์รูมของกบอ. เพื่อใช้ในการตัดสินใจ และนี่จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จหรือที่เรียกว่าซิงเกิล คอมมานด์ จริง ๆ
แต่ด้วยข้อมูลด้านน้ำมีเป็นจำนวนมากหลากหลาย และซับซ้อน จึงหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเทคโนโลยีสำคัญนี้ก็คือโมเดลหรือแบบจำลองที่ใช้ในการทำนายสภาพน้ำในสถานการณ์ต่าง ๆ นั่นเอง
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) องค์การมหาชนภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สสนก. และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)ในนามกระทรวงวิทย์ฯ ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากงบกลาง ภายใต้แผนการพัฒนาและจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวม 14 โครงการ วงเงิน 1,984.80 ล้านบาท โดยเป็นโครงการของ สสนก.รวม 9 โครงการ วงเงิน 599.80 ล้านบาท
ซึ่งภารกิจหลักของ สสนก. ก็คือการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อเชื่อมโยง ข้อมูลน้ำและสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ และ กรมทรัพยากรธรณี รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลของทางสถาบันเอง เช่น การติดตั้งโทรมาตรวัดระดับน้ำอัตโนมัติด้วยหัววัดแบบคลื่นสะท้อนหรือเรดาร์ เพื่อเสริมระบบเตือนภัย โดยจะมีการติดตั้งเพิ่มเติม จากที่มีอยู่แล้ว 60 สถานีทั่วประเทศเป็น 140 สถานี ข้อมูลการสำรวจระดับความลึกของแม่น้ำและคลองสายสำคัญ ๆ ซึ่งจะมีการออกไปสำรวจเก็บข้อมูลด้วยเครื่องบินสำรวจแบบ UAV เรือหุ่นยนต์ รวมถึงทางรถยนต์ ต่าง ๆ และข้อมูลจากกล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวีที่จะมีการติดตั้งที่ประตูน้ำสายสำคัญ ๆ
ข้อมูลเหล่านี้จะผ่านการคัดกรองทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก่อนส่งเข้าสู่การวิเคราะห์และประมวลผลด้วยแบบจำลองซึ่งมีทั้งด้านอากาศ ฝนและน้ำ
ล่าสุด…สถาบันฯ กำลังพัฒนา “แบบจำลองการไหลของน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา” แบบจำลองน้ำ โมเดลแรกของประเทศไทยที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านน้ำและอากาศเข้าด้วยกัน
ดร.ปิยมาลย์ ศรีสมพร นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองของ สสนก. บอกว่า แบบจำลองดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ของ DHI จากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งสถาบันได้ซื้อลิขสิทธิ์แบบจำลองและนำมาพัฒนาต่อในส่วนของข้อมูลเพื่อเป็นโมเดลสำหรับประเทศไทย เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การไหลของน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ดร.ปิยมาลย์ บอกถึงที่มาของ แบบจำลองนี้ว่า เดิมสถาบันมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมาก่อนหน้านี้ แต่หลังจากเกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ปี 54 ได้มีการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากต่างประเทศ และเริ่มนำแบบจำลองของ DHI จากประเทศเดนมาร์กเข้ามาใช้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนำมาพัฒนาเพิ่มเติม และนำเข้าข้อมูลของประเทศไทย ซึ่งจะคัดกรองข้อมูลน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะผ่านการวิเคราะห์ คัดเลือก ก่อนนำเข้าโมเดล ที่ผ่านการทดสอบถึงความแม่นยำในการทำนายในสถานการณ์ต่าง ๆ
“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีแต่แบบจำลองด้านน้ำที่มีเพียง 1 มิติ คือ เห็นเฉพาะน้ำในแม่น้ำลำคลอง แต่แบบจำลองใหม่นี้ จะเริ่มจาก 2 มิติ หรือ 2D คือสามารถเห็นทิศทางการไหลของน้ำในกรณีที่เกิดน้ำหลาก ล้นแม่น้ำลำคลอง ไปตามท้องทุ่งต่าง ๆ และกำลังพัฒนาไปสู่ 3 มิติ หรือ 3D ในปีหน้า ซึ่งแบบ 3 มิตินี้จะเห็นระดับความสูงของสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้แบบจำลองทั้ง 2 มิติและ 3 มิตินี้ จะมีการซ้อนข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ หรือแผนที่ทางอากาศเข้าไป”
ปัจจุบันแบบจำลอง ในลักษณะของ 2 มิติ หรือ 2D ได้ผ่านการทดสอบและพัฒนาเพิ่มเติม พร้อมปรับแต่งโมเดล คาดว่าจะสามารถใช้งานได้จริงภายในหน่วยงาน ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ โดยสามารถพยากรณ์การไหลของน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งหมด รวมถึงสามารถพยากรณ์ปริมาณฝนได้ด้วย
ยกตัวอย่างการทดสอบพยากรณ์เล่น ๆ เพื่อสาธิตการทำงานในขณะที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ หากน้ำมาเท่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณน้ำท่า น้ำจากเขื่อน การสร้างคันกั้นรอบกทม.สูงถึง 3 เมตรก็ไม่สามารถเอาอยู่ หรือการยกระดับถนนกั้นน้ำ หากจะต้องกั้นให้อยู่ อาจจะต้องยกระดับ ถนนสูงถึง 15 เมตรทีเดียว ซึ่งในที่นี้ยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมา ว่าหากทำเช่นนั้นแล้วน้ำจะไปทางไหน ทำให้ใคร ๆ เดือดร้อนได้อีกบ้าง
หรือจากข้อมูลฝนตก หากตกในปริมาณเท่านี้ จะสอดคล้องกับโมเดลการ ผันน้ำอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะสมดุลกันพอดี แบบจำลองนี้ช่วยบริหารจัดการได้
ส่วนจะใช้โมเดลหรือแบบจำลองนี้ในการรับมือสถานการณ์น้ำจริง ๆ เมื่อใดนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลอง คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานจริงได้ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนที่จะถึงนี้
และเรียกได้ว่าแบบจำลองดังกล่าว จะเป็นหัวใจสำคัญของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำในภาวะเร่งด่วน
…หากข้อมูลพร้อมก็สามารถวิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำได้ในทุกสถานการณ์…
ส่วนคำถามปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่… ดร.ปลอดประสพ ประธาน กบอ. บอกว่า โครงการในแผนรับมือหรือเผชิญเหตุ จะแล้วเสร็จ 99.99% ในเดือนกันยายนนี้แน่นอน ซึ่งเป็นเวลาน้ำมาถึงกทม.พอดี ไม่ว่าจะมามาก มาน้อย จากโมเดลคณิตศาสตร์ ในฐานะ นักวิทยาศาสตร์ คิดว่าไม่ท่วม และยังยืนยันว่าปีนี้ยังไงก็จะไม่ให้ท่วม เพราะมีแผนสู้น้ำที่รัฐบาลลงทุนทำไปแล้วมากมาย อยากบอกให้ประชาชนสบายใจ ไม่ต้องห่วง
“ใครที่ยังไม่ได้ซ่อมบ้าน ก็ซ่อมได้เลย”
หากเชื่อว่า เอาอยู่!!!!.
นาตยา คชินทร
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ขอขอบคุณ http://www.dailynews.co.th