ในมหาอุทกภัยปี 2554 มีสิ่งที่สร้างความสับสนกับประชาชนอย่างมากประการหนึ่ง นอกเหนือจากความอ่อนด้อยประสิทธิภาพอื่น อีกประดามี ก็คือ การแจ้งเตือนภัย หรือการสื่อสารในภาวะวิกฤติเพื่อการเตรียมตัว หรือหลบหลีกภัย
ตัวอย่างของการแจ้งข่าวเตือนภัยที่สะท้อนถึงปัญหาของระบบงาน ก็คือการที่รัฐมนตรีผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ออกข่าวผ่านรายการโทรทัศน์ เวลา 18.45 น. วันที่ 13 ต.ค. 54 ว่า ประตูน้ำคลองบ้านพร้าว จ.ปทุมธานี แตกไม่สามารถกั้นน้ำได้ น้ำจากแม่น้ำเจ้า พระยาจะเข้ามาทางตอนเหนือของ กทม.ขอให้ประชาชน หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ อ.คลองหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สถาบันเอไอที รังสิตตอนบน ลำลูกกา สายไหม ดอนเมืองตอนบน เหนือถนนรังสิต-ปทุมธานี เก็บของขึ้นที่สูง หรือบนชั้น 2 ให้นำรถยนต์เข้ามาที่สนามบินดอนเมือง ผู้ที่มีบ้านชั้นเดียวให้อพยพมาที่สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 50 ซม.-1 เมตร
แต่หลังจากนั้น เวลา 19.30 น. ศปภ.ก็แถลงข่าวอีกครั้งว่า คุมสถานการณ์ได้แล้ว
ซึ่งถ้าคุมได้จริง ก็เก่งเหลือเชื่อ แต่ถ้าถามคนที่ทำงานอยู่แถวประตูระบายน้ำจะทราบไม่ได้มีเหตุถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด
ถัดมาอีก 10 วัน วันที่ 23 ต.ค. บนหน้าเฟซบุ๊กของ “ศปภ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ก็มีประกาศข้อความ “ศปภ.ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ กทม.ทั้งหมดเก็บของขึ้นสูงในระดับ 1 เมตร เนื่องจากประตูน้ำเปิดหมดแล้ว ในคืนนี้ระดับน้ำจะขึ้นสูงสุดเวลา 21.00 น.” สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้เห็นข่าวสาร มีการส่งต่อกันจำนวนมาก แต่ต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ.ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงและลบข้อมูลดังกล่าวออกไปแล้ว
เมื่อพิจารณาการเตือนภัยของ ศปภ. ในช่วงอุทกภัย พบว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ได้ดึงเอาตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในสังกัดทั้งหมด รวมทั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่การแจ้งข่าวทำโดยทีมโฆษกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความสับสน ขาดความชัดเจน เป็นที่สงสัยว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเตือนภัยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มหาอุทกภัยครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งอื่น ๆ ตรงที่มีสื่อมวลชนทุกแขนง จากทุกสำนักกระจายลงสู่พื้นที่ต่าง ๆ และนำเสนอข้อมูลจากพื้นที่อย่างรวดเร็วฉับไว มีการแข่งขันของสื่อในการแสวงหาข้อมูล ด้วยวิธีประเมินจากนักวิชาการหรือภาคเอกชน เพราะขาดข้อมูลที่ชัดเจนจากฝ่ายรัฐ ส่งผลให้ประชาชนได้รับข่าวสาร เชิงการวิเคราะห์คาดการณ์ที่บางครั้งก็เกินความจริง โดยเฉพาะการคาดการณ์ทิศทางของน้ำที่จะหลากไปถึง
โดยทั่วไป การเตือนภัย ต้องประกอบด้วยระบบและเครื่องมือตรวจสอบว่ามีภัยเกิดขึ้น และอาจเป็นอันตรายกับประชาชนที่จุดใด หรือไม่ เมื่อใด จนทราบแน่ชัด จึงแจ้งข่าวเตือนภัยให้กับกลุ่มเสี่ยงได้ทราบ เพื่อการป้องกันหรือหลบหลีก
การเตือนภัย ต้องทำโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง มีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ มิใช่ใครก็ออกข่าวได้ รวมถึงสื่อมวลชนก็ไม่ใช่ผู้มีบทบาทในการวิเคราะห์ คาดการณ์เพื่อเตือนภัย
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเตือนภัยที่เป็นระบบ เริ่มจากการรับข้อมูล ข่าวสาร จากส่วนต่าง ๆ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และตัดสินใจว่าถึงขั้นต้องประกาศเตือนภัยกับใคร อย่างไร ขั้นต่อไปคือการกระจายข้อมูลและข่าวสาร ซึ่งมีทั้งหน่วยราชการส่วนกลาง หน่วยราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ประชาชนและ สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ
ภายในศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีความพร้อมถึงระดับที่มีห้องออกอากาศรายการโทรทัศน์ ที่พร้อมดำเนินการทันทีที่มีคำสั่งให้ปฏิบัติการ
ในการกระจายข้อมูล ข่าวสารนั้น ศูนย์เตือนภัย ก็มีเกณฑ์ ดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การรายงาน 2. การเฝ้าระวัง 3. การเตือนภัย 4. ยกเลิก
ทั้ง 4 ประการ มีรายละเอียดการปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น เกณฑ์การรายงาน จะต้องตรวจสอบว่าเกิดภัยธรรมชาติที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเป็นข้อมูลที่ละเอียด พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติ คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย ให้กับผู้บังคับบัญชา หน่วยช่วยเหลือกู้ภัยและประชาชน เกณฑ์เฝ้าระวัง ซึ่งจะทำเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีผลกระทบ ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งต้องติดตามและป้องกันการตื่นตระหนกและเข้าใจผิดของประชาชน โดยต้องให้ข้อมูลกับผู้บังคับบัญชาเพื่อชี้แจงกับประชาชน
ไม่ใช่รู้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงเล็กน้อยก็ปล่อยผ่านสื่อทันที
เกณฑ์เตือนภัย ใช้เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่จะเป็นอันตราย กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรง หรือครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งจะต้องรายงานรายละเอียดของภัย ผลกระทบ เวลาที่คาดว่าจะเกิดภัย ให้คำแนะนำการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย รวมถึงคำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย
เกณฑ์ยกเลิก เป็นหลักสำคัญอีกอย่างของการเตือนภัย นำมาใช้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และตรวจสอบข้อมูลจากทุกแห่งจนแน่ใจ เป็นไปตามเกณฑ์การยกเลิกภัยแต่ละชนิด เพื่อดำเนินการแจ้งให้ทราบว่า มีความปลอดภัยและให้หน่วยช่วยเหลือกู้ภัย ดำเนินการบรรเทาสาธารณภัย
การยกเลิก เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีควบคู่กับการเตือนภัย เพราะถ้าไม่มีเกณฑ์หรือไม่ประกาศยกเลิก ประชาชนหลงเข้าใจผิด เห็นสถานการณ์บางช่วงดีขึ้น แล้วเข้าไปในพื้นที่ ก็อาจเผชิญอันตรายบางอย่างที่คงอยู่และยังไม่ได้จัดการให้เข้าที่เข้าทาง
น่าสนใจว่า อุทกภัยที่ผ่านมา ไม่มีการประกาศยกเลิกแม้แต่จุดเดียว
การเตือนภัยในภาวะวิกฤติ ที่จะต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ จึงไม่ใช่ซื้อหาเครื่องมือใหม่ แต่ต้องทำให้ ระบบและหน่วยงานเตือนภัยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแนะนำผู้ควบคุม สั่งการ รับมือกับภัย ชี้ไปที่หน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน
ที่สำคัญ ต้องไม่ตื่นเต้น ตื่นตูม เสียเอง
นอกเหนือจากการเตือนภัยแล้ว งานกู้ชีพ การแพทย์ฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในสถานการณ์วิกฤตินี้ ซึ่ง 2 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. ก็ทำงานกันหนัก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้หน่วยงานและสถานบริการสาธารณสุขเองก็มีสภาพไม่ต่างจากที่อื่นจมอยู่ใต้น้ำ จำนวนมากก็ตาม
สำหรับการปฏิบัติการด้านการรักษาพยาบาล มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตั้งโรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง ในจังหวัดซึ่งมีน้ำท่วมบริเวณกว้าง และโรงพยาบาลประจำจังหวัดถูกน้ำท่วม เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป โรคเรื้อรัง และอุบัติเหตุฉุกเฉิน 24 ชม. นอกจากนี้ได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งติดอยู่ตามบ้านด้วย
กรมสุขภาพจิต ได้ออกหน่วยแพทย์เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมกับทีมสาธารณสุขจังหวัด ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัย ส่วนการปฏิบัติงานในศูนย์พักพิงฯ จังหวัดต่าง ๆ ได้ตรวจสุขภาพจิต ค้นหากลุ่มเสี่ยง ปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ให้คำปรึกษารายบุคคลและรายกลุ่ม ทำกิจกรรมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ ฝึกผ่อนคลายความเครียด
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้เฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด เฝ้าระวังและควบคุมโรค ในศูนย์พักพิง 12 จังหวัด 72 จุด การตรวจสอบระบบการเข้าถึงบริการวัคซีน และการขาดยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การผลิตชุดป้องกันโรคด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม “นายสะอาด” เป็นชุดป้องกันโรคด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ถุงดำขนาดใหญ่สำหรับใส่ขยะ ถุงดำขนาดเล็กสำหรับใส่อุจจาระ น้ำยาล้างจาน สบู่ เจลทำความสะอาดมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค หยดทิพย์ (คลอรีนน้ำ) ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เพื่อนำน้ำมาอุปโภคและเมกะคลีนพลัส ใช้บำบัดน้ำเสียที่ท่วมขังเป็นเวลานาน แก้ปัญหาส้วมเต็ม หรือกำจัดกลิ่นจากกองขยะ พร้อมทั้งคำแนะนำ สำหรับผู้ประสบภัย เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและป้องกันโรคระบาด แจกจ่ายไปยังจุดอพยพต่าง ๆ
นอกจากนี้ได้ติดตาม เฝ้าระวัง สนับสนุนยาเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอรองรับสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะยาในบัญชียาหลัก ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งต้องใช้เหมือนกัน บางรายการใช้ในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เช่น ยาปฏิชีวนะ บางรายการอาจขาดแคลน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิต ยาและเวชภัณฑ์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการตามแผนป้องกันปัญหาขาดแคลนยาเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้ส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ไปปฏิบัติงานในศูนย์พักพิงและโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง
นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เล่าว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย บางครั้งการลำเลียงผู้ป่วยเพียงคนเดียว ต้องใช้หลายวิธี เช่น ต้องให้ทีมกู้ชีพไปกับเรือเพื่อรับผู้ป่วย ส่งต่อให้รถทหารซึ่งดัดแปลงเป็นรถพยาบาลยกสูง และส่งต่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินอีกขั้นหนึ่ง หรือใครจะคิดว่าเราถึงขั้นต้องใช้เครื่องบิน C-130 ลำเลียงผู้ป่วยหลายสิบคนในคราวเดียว นอกจากนี้ด้วยจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่รอความช่วยเหลืออยู่มาก ทั้งจากโรงพยาบาลที่กำลังจะถูกน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ อาทิ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ถูกไฟฟ้าช็อต จมน้ำ เป็นต้น ประกอบกับสถานการณ์บีบบังคับ การวางแผน และทีมงานที่พร้อมและเสียสละจึงเป็นสิ่งสำคัญ
บทสรุปการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่กินเวลากว่า 2 เดือน สพฉ. ภายใต้การปฏิบัติงานของ “ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินดอนเมือง 84” ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้ทั้งสิ้น 2,046 ราย แต่การปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินดอนเมือง 84 ที่สนามบินดอนเมืองที่เคยใช้เป็นที่บัญชาการหลัก ก็ถูกน้ำท่วมหนักเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ สพฉ.ต้องคิดถึงแผนขั้นต่อไป คือการกระจายจุดบัญชาการไปยังภาคตะวันตก บริเวณโรงพยาบาลบางปะกอก 9 และภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ คือสนามบินสุวรรณภูมิ และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อความสะดวก และคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
จากบทเรียนครั้งนี้ทำให้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีการบ้านหนักต้องเตรียมรับมือต่อไป เพื่อเป้าหมาย คือ การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีคุณภาพมากที่สุด อาทิ การกระจายศูนย์บัญชาการหลักในแต่ละภูมิภาค การกระจายความครอบคลุมในส่วนของทีมกู้ชีพ การอบรมบุคลากรโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ การอบรมบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและมีความรู้เพิ่มมากขึ้น
เป็นหลักประกันให้ประชาชนได้มั่นใจ ไม่ว่าภัยธรรมชาติจะหนักแค่ไหน ก็พร้อมรับมือ.
.........................................
จมน้ำ...ไฟดูด...มหันตภัยที่มากับน้ำท่วม
ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้สรุปข้อมูลการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม พบว่า เสียชีวิตจากจมน้ำ 779 ราย เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูด 140 ราย
อุปกรณ์ที่เป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าดูดเสียชีวิต อาทิ เครื่องปั๊มน้ำ ปลั๊กไฟ เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ประตูเหล็ก ลูกกรงเหล็ก สายไฟฟ้าแรงสูง รถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว
สรุปการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูดพบมากในเพศชาย วัยทำงาน การให้ความรู้ ร่วมกับการจัดเตรียมชูชีพให้เพียงพอ จะช่วยลดการตายได้มาก โดยต้องทำล่วงหน้าก่อนน้ำจะมาถึง
ส่วนไฟดูดส่วนใหญ่เกิดในบ้านโดยใช้มือจับเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรงขณะตัวเปียกน้ำ รองลงมาคือสัมผัสสิ่งที่ทำด้วยเหล็กซึ่งไปพาดกับสายไฟ ดังนั้นควรให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไฟฟ้าดูดกับชุมชนตั้งแต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดน้ำท่วม ก่อนเกิดน้ำท่วม ให้การไฟฟ้าตรวจเช็กเสาไฟฟ้าเพื่อหาจุดไฟรั่ว และปรับปรุงซ่อมแซมสายไฟที่ตกลงมาในระดับต่ำ.
วีระพันธ์ โตมีบุญ / นวพรรษ บุญชาญ
ขอขอบคุณ http://www.dailynews.co.th/article/439/9403