เมื่อต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ดูเหมือนว่าต้นไม้ในกระถาง มักถูกนึกถึงหลังจากการเคลื่อนย้ายรถยนต์ สิ่งของมีค่า
สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ปลูกลงดินหรือเป็นไม้ใหญ่อีกจำนวนมากที่ถูกลืม แต่เมื่อมันแสดงอาการ
ว่าจะไม่ไหวแล้ว ใบเหลือง เหี่ยวเฉา เราจึงจะมาคิดว่าจะช่วยมันได้อย่างไร
หากมีเวลาช่วงก่อนน้ำท่วม ก็ควรเคลื่อนย้ายต้นไม้ในกระถางทั้งเล็กและใหญ่หนีน้ำขึ้นที่สูง เพราะไม้กระถางส่วน
ใหญ่ไม่ทนน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มไม้มงคล โดยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ควรยกไปวางบนกันสาดที่ไม่แข็งแรง ใต้หลังคา
สังกะสี หรือให้รับแสงแดดมากเกินไป สำหรับต้นไม้ใหญ่หรือไม้ที่ปลูกลงดินจะเคลื่อนย้ายได้ยาก บางคนคิดถึงการยกคัน
ดินหรือแนวกระสอบทรายล้อมรอบต้นไม้เพื่อกั้นน้ำ วิธีนี้จะเสียเวลาและเสียแรงเปล่าๆ เพราะน้ำที่ท่วมนอกคันดิน
สามารถแทรกซึมและขังใต้พื้นดินซึ่งส่งผลต่อระบบรากของต้นไม้อยู่ดี
เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเผชิญกับน้ำท่วม ก็ให้หลีกเลี่ยงการรบกวนบริเวณเรือนรากของต้นไม้ ซึ่งหมายถึงพื้นที่
รอบๆ โคนต้นไม้ที่มีรัศมีเท่าๆ กับพุ่มใบนั่นเอง บางคนอาจเห็นว่าใต้ต้นไม้เป็นเนิน ก็ขนย้ายสิ่งของไปวางหนีน้ำ ซึ่งไม่ควร
ทำเป็นอย่างยิ่ง หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายสิ่งของก็ขอให้หลีกเลี่ยงการผ่านบริเวณเรือนรากของต้นไม้ ช่วงที่น้ำท่วมนี้ อาจทำ
อะไรไม่ได้มาก นอกจากรอให้น้ำลดลงแล้วค่อยช่วยให้พื้นที่แห้งเร็วขึ้น โดยการทำเป็นร่องให้น้ำไหลออก หรือใช้การสูบ
น้ำที่ขังออก
เมื่อน้ำลด ให้ตรวจสอบและรอดูอาการของต้นไม้ว่ารอดหรือตาย รอให้พื้นดินแห้งสัก 4-5 วัน แล้วค่อย
ดำเนินการดูแลและฟื้นฟูต้นไม้ที่รอดตาย
การสังเกตุต้นไม้หลังน้ำท่วม หากมีการทิ้งใบแล้วผลิใบใหม่แสดงว่ารอด แต่หากใบเหี่ยวเฉาติดอยู่คาต้นอาจจะไม่รอด
นอกจากนี้ ให้ดูจากกิ่งและลำต้น โดยหักกิ่งเล็กๆ หรือขูดเปลือกโคนต้นไม้ หากยังเห็นเนื้อไม้เขียวหรือสดอยู่ก็มีโอกาสรอด
แต่หากทั้งกิ่งและลำต้นมีสีน้ำตาลและแห้งก็จะรอดยาก
การดูแลและฟื้นฟูต้นไม้ที่รอดตายหลังน้ำท่วม
‐ ใช้ไม้ค้ำยันต้นไม้ที่มีอาการอ่อนปวกเปียก เสียการทรงตัว
‐ อย่าไปเดินเหยียบย่ำดินบริเวณต้นไม้ เพราะจะทำให้ดินแน่นและลดอากาศในดินที่รากใช้หายใจ
‐ รอให้ดินแห้งหมาดๆ แล้วค่อยพรวนดิน เพื่อเพิ่มอากาศในดินและป้องกันรากเน่า
‐ ให้ “ปุ๋ยทางใบ” สูตร NPK 15-10-10 หรือ 25-20-20 หรือใกล้เคียงกัน ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้นในช่วงเช้า ให้พืช
นำไปใช้บำรุงใบ ต้นและรากให้ฟื้นตัวเร็ว (ปุ๋ยทางใบเป็นปุ๋ยเฉพาะ เช่น ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยเกร็ด อย่านำปุ๋ยเม็ดที่ให้
ทางดินมาละลายน้ำเด็ดขาด)
‐ ตัดแต่งกิ่งและใบเพื่อลดการคายน้ำ ช่วยให้ต้นไม้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
‐ ต้นไม้หลังน้ำท่วมจะอ่อนแอ เกิดโรคได้ง่าย ควรหมั่นสังเกตอาการที่มักจะเกิดขึ้น เช่น ฝ้าขาวที่ใบซึ่งเกิดจาก
จากเพลี้ยแป้ง ใบแหว่งถูกหนอนกัดกิน มีเชื้อราขาวๆ บริเวณโคนต้นและราก เพื่อจะได้รักษาตามอาการ
หลังน้ำท่วม หลายคนอาจมองหาต้นไม้เพื่อปลูกแทนต้นที่ตายไป ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายๆ คนยังให้ความสำคัญ
กับต้นไม้ จึงขอแนะนำให้เลือกไม้ทนน้ำ อย่างเช่น เสม็ดขาว ตีนเป็ดน้ำ พญาสัตบรรณ อินทนิลน้ำ โมก หมาก ปาล์มบาง
พันธุ์ เป็นต้น จะช่วยให้เมืองเราน่าอยู่และร่มรื่นได้
ขอขอบคุณ รศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ฝ่ายวิชาการ สำนักงาน
สวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, งานสวนสาธารณะ ส่วนการโยธา สำนักการช่วง เทศบาลนครปากเกร็ด,
ผู้ประกอบการธุรกิจขายต้นไม้และจัดสวน ย่านถนนติวานนท์
ขอขอบคุณ http://www.tei.or.th/news/article/111118-article-flood-forest.pdf