เปิด 8 แผน กยน.แก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระยะสั้น-ระยะยาวทั้งฟื้นฟูป่าต้นน้ำ-บริหารเขื่อน รวมถึง วางระบบพยากรณ์ และเตือนภัย
การตรวจสอบพบว่า 8 แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย
1.แผนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศน์ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการดูดซับและชะลอน้ำ รวมทั้งเพื่อการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติมตามศักยภาพพื้นที่ และเพื่อพัฒนาแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม โดยแผนงานจะฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม การจัดทำโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำ การส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเศรษฐกิจ และจัดทำป่าชุมชน การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน การปรับปรุงการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดิน หารเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำและการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.แผนงานการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศประจำปี ให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยพัฒนาแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญ ในลุ่มน้ำสำคัญ จัดทำแผนการบริหารน้ำในกรณีต่างๆ (Scenario) และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชนต่างๆ เพ่อการรับรู้และตระหนักการเตรียมการป้องกัน บรรเทาปัญหาอุทกภัย
3.แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม โดยการดำเนินงานประกอบ 4 แผนย่อย ประกอบด้วย (1)การปรับปรุงคันกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบระบายน้ำ (2)การปรับปรุงทางระบายน้ำ ขุดคลอง ขจัดสิ่งกีดขวางในคูคลองและทางระบายน้ำ (3)การเสริมคันกั้นน้ำและการดำเนินการาตามแนวพระราชดำริ (4)การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่เฉพาะ
โดยรวมงบประมาณดำเนินการในระยะเร่งด่วน ของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 17,126 ล้านบาท โดยในปี 2555 มีข้อเสนองบประมาณดำเนินงานจำนวน 12,610 ล้านบาทและในปี 2556 จำนวน 4,516 ล้านบาท
4.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย เพื่อให้มีข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารจัดการน้ำ และมีแบบจำลองเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีองค์กรในการเตือนภัยที่มีเอกภาพ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการ โดยการจัดตั้งศูนย์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ การสร้างแบบจำลองการพยากรณ์และระบบเตือนภัย และการปรับปรุงองค์กร ระบบตรวจวัดข้อมูล และระบบการสื่อสารข่าวการเตือนภัยจากน้ำ
5.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะที่ เพื่อให้มีความสามารถในการเตรียมพร้อมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะระบบป้องกัน บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ที่มีความสำคัญ โดยมีแนวทาง อาทิ พัฒนาระบบป้องกันบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ที่มีความสำคัญ รวมทั้ให้มีระบบสร้างคลังเครื่องมือ การจัดเตรียมแผนคมนาคมเมื่อเกิดอุทกภัย การแก้ไขน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขัง และจัดทำแผนช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ
6.แผนงานกำหนดพื้นที่รองรับน้ำนอง และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ โดยกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่รับน้ำนองเพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติและชะลอน้ำหลากในภาวะวิกฤติ การจัดทำแผนการผันน้ำลงสู่พื้นที่รับน้ำนอง และการกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษสำหรับพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป้นพื้นที่รับน้ำ
7.แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีองค์กรบริหารจัดการแบบบูรณาการ ที่สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับพลันในยามวิกฤติ ในลักษณ Single command ซึ่งในระยะเร่งด่วนให้คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ สามารถสั่งการติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการให้บรรลุผลตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการ และให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศแบบบูรณาการเป็นการถาวร ในการบริหารจัดการน้ำให้เป็นเอกภาพ มีลักษณะเป็น Single command ในภาวะฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8.แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้านการดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ปัญหาอุทกภัยในภาพรวม ให้การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยรวมถึงภัยพิบัติขนาดใหญ่อื่นๆของภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน ประชาชน
โดยการรณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานราชการ ประชาชน เอกชน ผ่านสื่อต่างๆ เพ่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ รวมทั้งการพัฒนาขีดความขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและปรับปรุงระเบียบปฏิบัติ เพื่อที่คณะกรรมการด้านการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วนสามารถดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์และมีบทบาทในการทำงานมากขึ้นสร้างความ
สำหรับแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน มี 6 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงานบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและการจัดทำแผนบริหารจัดการกักเก็บน้ำของประเทศประจำปี แผนนี้ให้รายงานความก้าวหน้าต่อกยน. ในเดือน ม.ค. 55 ส่วนแผนงานที่ 2.แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามที่แผนวางไว้ ซึ่งจะมีการปรับปรุงคันกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่ทั่วไป ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 7,062.82 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2556 จำนวน 4,515.7 ล้านบาท
ขณะที่การปรับทางระบายน้ำ ขุดคลอง ขจัดสิ่งกีดขวางในคูคลองและทางระบายน้ำ ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 1,695.27 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่เฉพาะ ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 2,984.05 ล้านบาท และการเสริมคันกั้นน้ำและการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 868.2 ล้านบาท โดยทั้ง 4 เรื่องนั้นพิจารณาโครงการแล้วเสร็จเดือนม.ค.2555
สำหรับแผนงานที่ 3.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูลและรบบพยากรณ์เตือนภัย ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2555 4.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2555 5.แผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2555 และ6.แผนงานปรับปรุงบริหารองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ม.ค.2555 ซึ่งตั้งแต่แผนงานที่ 3-6 นั้นไม่มีการใช้งบประมาณ
สำหรับแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีของลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ที่มีการอนุมัติในกรอบวงเงิน 300,000 ล้านบาท มีทั้งหมด8 ด้าน ประกอบด้วย
1.แผนงานฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศน์ โดยเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ รองรับการดูดซับและชะลอน้ำ
2.แผนบริการจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศประจำปี
3.แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งปลูกสร้างเดิม อาทิการปรับปรุงคันกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบระบายน้ำ รวมถึงการขุดลอกคูคลอง
4.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัย โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยต่างๆ ให้เป็นเอกภาพและมีความน่าเชื่อถือ มีการสร้างแบบจำลองการพยากรณ์และระบบเตือนภัย รวมทั้งระบบการสื่อสารข้อมูลการเตือนภัยจากน้ำ
5.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะที่ เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยในพื้นที่สำคัญ อาทิ แหล่งชุมชน นิคมอุตสาหกรรม แหล่งมรดกวัฒนธรรม
6. แผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ รวมถึงการกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษให้กับประชาชนในพื้นที่ รับน้ำ การสนับสนุนการประกอบอาชีพและรายได้ของประชาชนที่ขาดหายไป
7.แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยให้มีองค์กรบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับพลันในช่วงวิกฤติโดยในระยะเร่งด่วนให้มีคณะ กรรมการเฉพาะกิจ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมี รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการสามรถสั่งการได้ทันที และ
8.แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน โดยเป็นการดำเนินการให้ภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้องได้รับความร่วมมือจาก ชุมชน ประชาชนในการทำงาน และจะต้องสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนให้เกิดความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง และความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการดำเนินงาน
ขอขอบคุณ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์