เบื้องหลังคันดิน เหตุผลที่มหิดลรอดน้ำท่วม

Thursday, 12 January 2012 Read 2512 times Written by 

  12_1_2012_4
เรื่อง/ภาพ : กรวิกา วีระพันธ์เทพา

วิกฤติน้ำท่วมช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามของหลายๆ สถานที่ที่จะยันน้ำเอาไว้ ทั้งก่อกำแพงปูน เสริมกระสอบทราย ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา อาคารราชการ ฯลฯ แต่น้ำก็ยังเดินทางผ่านที่แล้วที่เล่า เกราะกำบังนั้นต่าง “เอาไม่อยู่”

ณ ที่ราบลุ่มศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นทางผ่านของน้ำเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้ที่นี่ต่างจากที่อื่นก็คือ สามารถ “เอาอยู่” ด้วยคันดินและคูน้ำรอบมหาวิทยาลัย รักษาพื้นที่แห้งได้ท่ามกลางน้ำสูงกว่า 2 เมตรโดยรอบมาตลอดเกือบ 2 เดือน

มหาวิทยาลัยที่ไม่มีรั้วแห่งนี้ ยังแห้งอยู่ได้เพราะ “คูน้ำ” และ “คันดิน” ที่ปกคลุมด้วยหญ้าเพื่อลดการกัดเซาะหน้าดิน และมีต้นไม้ใหญ่เพิ่มความแข็งแรง ตลอดแนวตะวันออกและใต้ รวมระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ยกเว้นเพียงบริเวณประตูเข้าออกทั้ง 4 ทาง ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 200 เมตร ประหยัดทั้งงบประมาณและทรัพยากรมากมาย

ที่ศูนย์อำนวยการความช่วยเหลือมหิดล ศาลายา รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม ยืนรอพร้อมที่จะอธิบายให้เราเข้าใจเหตุผลที่มหาวิทยาลัยรักษาพื้นที่ไว้ได้ เขาออกตัวว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ต้องยกความชอบให้กับทีมงานทุกคน และที่สำคัญคือ ... แนวคิด “อยู่ร่วมกับธรรมชาติ” ที่ผู้บริหารในอดีตวางไว้ตั้งแต่ต้น

บย้อนไป 30 กว่าปีที่แล้ว คือช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยมหิดลมาลงหลักปักฐานที่วิทยาเขตศาลายา ด้วยความที่พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้บริหารจึงวางแผนพัฒนาพื้นที่โดยมี “น้ำ” เป็นโจทย์หลัก และเน้นการจัดการ 2 เรื่องคือ

เรื่องแรก ทำให้เป็นระบบปิด โดยการทำคันดินและขุดคูคลองรอบมหาวิทยาลัย ทำให้ไม่ต้องถมที่ และส่งผลไปถึงไม่ต้องดัดแปลงสภาพพื้นที่จากธรรมชาติมากจนเกินไป น้ำที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยมีสองส่วน คือน้ำฝนและน้ำจากการใช้ในอาคารต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ทำให้น้ำที่ออกจากที่นี่ไม่เน่าเสีย

เรื่องต่อมาคือ ดูแลการเชื่อมโยงกับคูคลองรอบมหาวิทยาลัย จะทำอย่างไรให้สามารถสูบน้ำออกภายนอกได้ให้ทันกับปริมาณน้ำเข้ามา เช่น ช่วงฝนตกหนักๆ ก็ต้องดูแลขุดลอกคูคลองให้ไหลดีตลอดเวลา

จนถึงปี 2551 ในช่วงเริ่มต้นผังแม่บทศาลายาของผู้บริหารชุดล่าสุด ก็ใช้แนวคิดเดิมในอดีตมาสานต่อ บวกกับเพิ่มจุดเน้น “to live and learn with nature” เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้กลมกลืนกับชุมชนรอบข้างที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร ด้วยการปรับปรุงยกระดับคันดินขึ้น เติมต้นไม้ให้ความร่มรื่น ลดพื้นที่ถนน เพิ่มทางจักรยาน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนคันดินที่มีต้นไม้เก่าแก่ขึ้นอยู่แล้วก็รักษาไว้ให้เหมือนเดิม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การขุดลอกคูคลองให้น้ำระบายสะดวก

รศ.ดร.อนุชาติ เล่าต่อว่า เดิมทีที่มหาวิทยาลัยเสริมคันดินก็มีคนไม่เห็นด้วย เพราะติดภาพกับรั้วอัลลอย แต่ความสามารถของมันก็ทำให้ตอนนี้หลายคนบอกว่า เห็นแล้วว่าได้ประโยชน์ หากไม่มีคันดินนี้ก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันมหาวิทยาลัยได้เลย

“ตอนเสริมคันดินเราไม่ได้นึกถึงการป้องกันน้ำท่วมนะ แต่มันกลายเป็นผลพลอยได้และเป็นบทเรียนที่สำคัญว่า การดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่ ว่าการลงทุนทำนองนี้มันคุ้มนะ ที่มหาวิทยาลัยปรับปรุงคันดินไปนี่ใช้เงินไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่มันป้องกันความเสียหายในมหาวิทยาลัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อาจจะถึง 4-5 พันล้านเลยนะ แค่ต้นไม้ตายหมดก็ประมาณ 400-500 ล้าน และเรามีอาคารเยอะมาก มีหม้อแปลงไฟฟ้า เจเนอเรเตอร์ ห้องปฏิบัติการต่างๆ เต็มไปหมด ถ้าน้ำข้างนอกเข้ามา คาดว่าข้างในจะสูงประมาณ 2 เมตร”

ตลอดช่วงเวลาเกือบ 2 เดือน ที่น้ำท่วมพื้นที่ศาลายา ทางมหาวิทยาลัยมีมาตรการหลายอย่างเพื่อรักษาพื้นที่แห้งไว้ เช่น วางกระสอบทรายเสริมบนคันดิน ด้านทิศใต้ (ถนนบรมราชชนนี) ปั้นคันดินใหม่ทางด้านทิศเหนือ ระยะทางประมาณ 700- 800 เมตร และวางกระสอบทรายบางประตู เพื่อบีบทางให้น้ำค่อยๆ เข้า ไม่โหมเข้ามาทุกทาง แม้จะมีช่วงที่คันดินพัง ระยะประมาณ 4-5 เมตรเพราะแรงดันน้ำ แต่ก็สามารถซ่อมได้

เมื่อพื้นที่ภายในยังใช้การได้ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้ใช้ประโยชน์จากความแห้งอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยที่สามารถรองรับได้ 300 คน แต่ต้องปิดไปหลังดำเนินการได้ 8 วัน เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทางมหาวิทยาลัยเองในตอนแรกคิดว่าจะเอาไม่อยู่ จึงต้องอพยพทั้งผู้ประสบภัยและบุคลากรภายในแต่คันดินก็ยังสามารถรับแรงดันน้ำได้ จึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ทำอาหารแจกคนที่สัญจรผ่านมา ระดมของบริจาคและกระจายเข้าไปในพื้นที่ ส่งข้าวกล่อง ถุงยังชีพ ฯลฯ โดยประสานกับ อบต. ในพื้นที่ว่าแต่ละชุมชนต้องการอะไร ที่ผ่านมาประมาณค่อนเดือน ประเมินกันว่ามหาวิทยาลัยสามารถส่งอาหารไปให้ชุมชนรอบๆ ประมาณ 4 แสนกว่ากล่อง ถุงยังชีพหลายหมื่นถุง

นอกจากนี้ด้านประตูถนนศาลายาไทยวาด-นครชัยศรี ก็ปรับเปลี่ยนเป็นท่าเรือรับ-ส่งผู้โดยสาร สำหรับคนภายเรือมาจากบ้าน มาหยุดพักหรือมาต่อรถบรรทุกคันใหญ่เดินทางต่อไปได้ ภายในมหาวิทยาลัยมีศูนย์รับแจ้งความ รวมทั้งความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อชุมชนโดยรอบ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากแรงอาสาสมัครของมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.อนุชาติ เน้นว่าแนวคิดอยู่ร่วมกับธรรมชาติของมหิดลคือป้องกันในระดับที่พอเหมาะพอควร หากน้ำมากกว่านี้ก็คงไม่สามารถทานอยู่ได้ แต่เป็นความโชคดีของมหาวิทยาลัยที่มีทุนเดิมที่แข็งแรง จนในที่สุดสามารถใช้พื้นที่ภายในมาเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือพื้นที่ใกล้เคียงได้

แต่สำหรับภาพใหญ่ของสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ รศ.ดร.อนุชาติมองว่า “วิธีคิดที่จะสู้กับน้ำคือการเอาชนะธรรมชาติ มันทำได้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ไหลลงดีขึ้น แต่ถ้าเป็นการฝืนดันไม่ให้ไหลลงหรือดันกลับไปขึ้นเหนือ นี่เป็นความผิดปกติแล้วนะ ถ้าเราอยู่ร่วมกับเขา เช่น ยอมให้น้ำผ่านบ้าง แล้วเร่งขุดลอกคูคลองซึ่งมีมากมายในกรุงเทพฯ ให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาไปได้เยอะ วิธีบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานการเอาชนะ การบล็อก อาจจะช่วยปกป้องได้บางพื้นที่จริง แต่ผมไม่แน่ใจว่าในที่สุดมันจะช่วยได้กี่เปอร์เซ็นต์

“ทุกวันนี้แผนพัฒนาเมืองมันไม่ทำให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเหมาะสม ถนนแทบทุกสายกลายเป็นทางขวางน้ำ พอน้ำลงจะเห็นชัดมากว่าถนนหลวง ทางรถไฟ กลายเป็นตัวบล็อกน้ำ คือนึกจะทำตรงไหนก็ทำ แล้วพอเกิดปัญหาก็ยิ่งเอาแนวคิด ‘สู้’ ไปเติม”

สิ่งที่ รศ.ดร.อนุชาติ อยากให้คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ก็คือ นี่เป็นสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้จักคลอง รู้จักประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หากหันมาใส่ใจระบบระบายน้ำให้ดี ก็จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้เยอะ และเมื่อไม่มีน้ำขัง ก็ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นไปด้วย

และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยเองก็เรียนรู้ว่า แนวคิด “อยู่ร่วมกับธรรมชาติ” เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พื้นที่ตนเองได้ และยังยืนยันสานต่อแนวคิดนี้ไปอีกในระยะยาว

ขอขอบคุณ http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1575

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank