ผลการศึกษาพบว่า มหานครที่ขยายตัวรวดเร็วในเอเชียและแอฟริกาเผชิญความเสี่ยงมากที่สุดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยติดอันดับ 37 ของประเทศที่เสี่ยงภัยมากที่สุด
เมเปิลครอฟท์ บริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดทำแผนที่เผยแพร่สมุดแผนที่ความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 4 เมื่อวันพุธ จัดอันดับเกือบ 200 ประเทศเสี่ยงภัยระยะปานกลาง 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดได้แก่ เฮติ บังกลาเทศ เซียร์ราลีโอน ซิมบับเว มาดากัสการ์ กัมพูชา โมซัมบิก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาลาวี และฟิลิปปินส์ ส่วนไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับที่ 37 ขณะที่ไอซ์แลนด์มีความเสี่ยงน้อยที่สุด
ผลการศึกษาระบุด้วยว่า ในบรรดามหานครขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก 20 แห่ง มี 6 แห่งเสี่ยงภัยอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แก่ เมืองกัลกัตตาของอินเดีย กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย กรุงธากาและเมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ กรุงแอดดิสอาบาบาของเอธิโอเปีย ส่วนมหานครที่เสี่ยงภัยสูงได้แก่ เมืองกวางตุ้งของจีน นครมุมไบ กรุงนิวเดลี และเมืองเชนไนของอินเดีย เมืองการาจีของปากีสถาน และกรุงลากอสของไนจีเรีย
มหานครเหล่านี้มีประชากรเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ มีการทุจริต ความยากจน และปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่ชาวเมืองและภาคธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้โครงสร้างพื้นฐานที่ตึงตัวอยู่แล้วในหลายเมืองไม่สามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นและจะมีปัญหาในการแก้ไขภัยพิบัติที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น
ผลการศึกษายังได้กล่าวถึงประเทศไทยด้วยว่า เป็นอีกเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและกำลังเผชิญกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและนักลงทุนควรศึกษาบทเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้
ขอขอบคุณที่มา:http://www.matichon.co.th