ไทย เป็นประเทศที่ผู้คนมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับน้ำมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งในแง่บวกและลบตั้งแต่การใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักในอดีต และการใช้ประโยชน์จากน้ำในเชิงเกษตรกรรม ไปจนถึงอุทกภัยหลายต่อหลายครั้งที่ยังคงเกิดซ้ำซากมาจนปัจจุบันทั้งยังทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมหาศาล ดังเช่นที่พี่น้องคนไทยในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาง ต่างประสบกันอยู่และเพื่อตีแผ่ข้อมูลอุทกภัยของไทย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและแนวโน้มการเกิดครั้งใหม่ พร้อมการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ลานิญา ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นสาเหตุการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เหมือนกับปี 2553 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวทีวิชาการ เรื่อง 'วิเคราะห์มหากาพย์อุทกภัยไทยปี 2554 พร้อมจับตาลานิญา : พายุผิด ปกติหลายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังหรือไม่' ขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางรับมือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มี ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากหน่วยพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลน่าสนใจมากมายหลายประเด็น ควรค่าแก่การศึกษารับฟัง
ศ.ดร.ธนวัฒน์ เริ่มต้นอธิบายว่า ประเทศไทยมีมรสุม 2 ชนิด ได้แก่ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะหอบเอาความชื้นจากไอน้ำใน มหาสมุทรอินเดียเข้ามา ปัจจัยหลักที่มีผลต่อความรุนแรงของพายุที่เกิดจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า 'เอลนิโญ่/ลานิญา-ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้' หรือ 'เอ็นโซ' (ENSO)โดยลักษณะการเคลื่อนที่ของพายุที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ จะเคลื่อนเข้ามาทางเกาะไหหลำ ในทะเลจีนใต้ ราวเดือนมิ.ย.-ก.ค. ซึ่งพายุมักจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกซีกตะวันตก เนื่องจากมีปัจจัยเหมาะสม เช่น ความลึกมาก และอุณหภูมิผิวน้ำที่ 26.5 องศาเซลเซียส มีลมพัดสอบ (แนวลมพัดที่สวนทิศกัน) รวมทั้งแรงเหวี่ยงลมและปริมาณไอน้ำในมหาสมุทร
อาจารย์ธนวัฒน์ระบุต่อไปว่า จนถึงขณะนี้ในปี 2554 มีพายุเกิดขึ้นแล้ว 19 ลูก จากค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20-23 ลูกต่อปี สถิติสูงสุด 30 ลูกต่อปพายุเหล่านี้จะเป็นตัวการที่ทำให้ไทยมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ แต่เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของไทยพายุจึงมักอ่อนกำลังลง เพราะต้องผ่านฟิลิปปินส์ก่อน และไทยมักโดนแค่หางพายุ ขณะที่ 'ตัวพายุ' มักอยู่ที่เวียดนาม โดยช่วงต้นปีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีอิทธิพลต่อร่องมรสุมนี้ และร่องมรสุมดังกล่าวจะพาดผ่านภาคเหนือของไทย และต่ำลงมาเรื่อยๆ จนถึงภาคอีสาน แต่เมื่อถึงปลายปี ราวเดือนต.ค.-พ.ย. จะลงมาถึง 'ภาคใต้' ซึ่งเป็นผลมาจากลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความชื้นต่ำแผ่อิทธิพลลงมา จนในที่สุดมาชนกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ภาคใต้ของไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักที่ภาคใต้!จากการเก็บข้อมูลทุก 3 เดือน และนำเปรียบเทียบกันในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา พบว่าสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น
เนื่องจากข้อมูล 'เอ็นโซ' ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของปรากฏการณ์เอลนิโญ่และลานิญามีการสลับสับเปลี่ยนถี่มากขึ้น ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยการกลับมาของเอลนิโญ่จากอยู่ที่ราว 3 ปี และลานิญาอยู่ที่ 4.6 ปี กลายเป็น 1.6 ปี และ 2.6 ปี ตามลำดับ เอลนิโญ่จะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ส่วนลานิญาจะทำให้เกิดฝนตกหนัก สาเหตุหลักคาดว่าอาจมาจากอุณหภูมิพื้นผิวโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกทำให้โลกร้อน ส่งผลให้พายุมีความแปรปรวนมากขึ้นตามไปด้วย ก่อให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่กับไทยหลายครั้ง ศ.ดร.ธนวัฒน์ระบุว่า ภาคใต้ของไทยอาจต้องประสบกับภาวะอุทก ภัยร้ายแรงอีกครั้ง หลังแนวโน้มของดัชนี 'เอ็นโซ' บ่งชี้การเกิดเอลนิโญในปี 2554 มีรูปแบบคล้ายคลึงกันกับค่าดัชนีของเมื่อปี 2553 สอดคล้องกันกับดัชนีชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณา คือ ดัชนีลมเย็นจากขั้วโลก หรือค่า 'เอโอ' ซึ่งปัจจุบันมีค่าเป็นบวก หมายความว่ามวลความกดอากาศสูงในลมตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการกระจุกตัวและไม่แผ่ลงมาจากขั้วโลกเหนือ ส่วนกรณีค่าเอโอเป็นลบแปลว่า จะมีลมเย็นแผ่ลงมาเป็นระลอก กล่าวง่ายๆ คือ ประเทศไทยจะมีอากาศหนาว ส่งผลให้ฝนถูกดันลงไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ย้อนกลับไปที่เหตุอุทกภัยของไทย เมื่อปี 2553 ซึ่งเกิดน้ำท่วมทั่วประเทศอย่างรุนแรง ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศอยู่ที่ 1,776.65 มิลลิเมตร ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 4.73
ตัวอย่างการศึกษากรณีแรก เหตุน้ำท่วมที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลเสริมจากลานิญาเต็มตัว ขณะที่ดัชนีเอโอเป็นค่าลบ ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนลมมรสุม ซึ่งเมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแผ่ลงมาเจอกับความชื้นที่ยังหลงเหลืออยู่เนื่องจากอยู่ในช่วงของลานิญา ทำให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก กรณีที่สองในปลายปี 2553 คือ วิกฤตน้ำท่วมรุนแรงที่ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระลอกแรกเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันที่เกิดขึ้นในอ่าวไทยและพัดผ่านภาคใต้ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่อินเดีย ทั้งหมดเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในช่วงของลานิญา และไม่มีลมหนาวลงมา มิหนำซ้ำจุดที่ก่อเกิดพายุดังกล่าวกลับเป็นอ่าวไทยซึ่งมีความลึกเพียง 40 เมตร ไม่จัดเป็นทะเลลึก ซึ่งในทางทฤษฎีนับว่าไม่ควรมีพายุเกิดขึ้นได้ ขณะที่ระลอกสองคือ การเกิดแผ่นดินถล่มที่เขาพนม จ.กระบี่ ในช่วงลานิญาเช่นเดียวกัน แต่ค่าเอโอเป็นลบรุนแรงคือ มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมหนาวพัดลงมาไล่ฝนลงไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งหากปีนี้เกิดกรณีอย่างระลอกที่สอง ภาคใต้ก็จะรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมรุนแรงไปได้ อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ น้ำท่วม-ดินถล่มที่ภาคใต้ เมื่อช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ราวเดือนมี.ค.ถือเป็นช่วงเปลี่ยนมรสุมจากลมตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ และเนื่องจากอิทธิพลลานิญากำลังแรง และไม่มีอิทธิพลลมหนาว จึงเกิดฝนตกทั่วประเทศ ส่วนภาคใต้ได้รับความเสียหายมากที่สุดเนื่องจากดินอุ้มน้ำเต็มที่อยู่แล้วตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ย. 2553ศ.ดร.ธนวัฒน์เตือนว่า ขณะนี้บางพื้นที่ในภาคใต้นั้นถือว่า 'อุ้มน้ำเต็มที่อยู่แล้ว' ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2554...หากปลายปีนี้ภาคใต้ต้องเผชิญกับน้ำท่วมรุนแรง ก็จะเกิด 'ดินถล่ม' ซ้ำรอยอีก เนื่องจากมีแนวโน้มการเกิดพายุในทะเลจีนใต้สูง ซึ่งทางทฤษฎีแล้วจัดว่าไม่ควร เพราะเป็นทะเลตื้น แต่เมื่อปี 2553 กลับมีพายุที่เกิดในทะลจีนใต้ถึง 11 ลูก นับว่าผิดปกติและเยอะมากแสดงให้เห็นว่าความชื้นจากลานิญาในปี 2553 นั้นรุนแรงมาก จากการศึกษาพบว่าพายุที่เกิดในทะเลจีนใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนการพยากรณ์ปรากฏการณ์ลานิญานั้นปัจจุบันมีแนวโน้มที่ปี 2555 จะเกิดลานิญาซ้ำอีก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่จะเป็นเอลนิโญ่ ศ.ดร.ธนวัฒน์เห็นว่า วิกฤตน้ำท่วม 'ภาคกลาง' ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปีที่เป็นรอยต่อระหว่างเอลนิโญ่ตามด้วยลานิญาและมีพายุเข้า เช่น ปี 2526 เนื่องจากเขื่อนไม่ปล่อยน้ำจากสภาพอากาศแห้งแล้งของเอลนิโญ่ แต่เมื่อ 'พายุคิม' พัดเข้าภาคกลางของไทย ผนวกกับเขื่อนเร่งระบายน้ำทิ้งเพื่อป้องกันเขื่อนแตก ทำให้น้ำที่ท่วมภาคกลางมีระดับสูงมาก
ต่อมาในปี 2533, 2538 และ 2549 ก็เกิดในทำนองเดียวกัน จึงควรต้องมีการเรียนรู้และจัดระบบการบริหารน้ำกันใหม่!"ในห้วงระยะเวลากว่า 2 เดือนเศษ พื้นที่กว่า 40จังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่ภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากำลังเผชิญกับมหันตภัยน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี สถานการณ์น้ำปี 2554วิกฤตหนักภายหลังมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตั้งแต่ต้นปีมีกำลังแรงมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากอิทธิพลของลานิญาต่อเนื่องจากปี 2553 ทำให้ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพาดผ่านหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้รับฝนจากพายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน และนาลแก ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมากเกินปกติ กลายเป็นผีซ้ำด้ำพลอย ให้ประชาชนในหลายพื้นที่กำลังประสบอุทกภัยอยู่แล้วต้องสาหัสสากรรจ์มากขึ้นไปอีก และอาจมีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา" อาจารย์วิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ ความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปีนี้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงเหนือความคาดหมาย จากเดิมเมื่อปี 2553 ที่พบว่าลานิญาส่งผลรุนแรงต่อไทย ก่อให้เกิดอุทกภัยทั้งในภาคเหนือ อีสาน และหนักที่สุด คือ ภาคใต้ ล่าสุดจากการศึกษาพายุที่มีถิ่นกำเนิดในทะเลจีนใต้ผนวกกับลานิญา ในปี 2554 พบว่า มีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ 'น้ำท่วมภาคใต้' จากนี้ไปในช่วง 2-4 เดือน ราวเดือนต.ค.นี้ถึงเดือนม.ค. 2555 จะน่าเป็นห่วงมาก โดยมีแนวโน้มสูงที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะเผชิญกับฝนตกหนักจากลานิญา เหมือนในปี 2518, 2531, 2543และอาจมีพายุพัดถล่มเหมือนปี 2505ที่แหลมตะลุมพุก 2532 พายุเกย์ที่ชุมพร รวมถึงอาจเกิดภาวะน้ำท่วมดินถล่มเหมือนปลายปี 2553 ที่ผ่านมา จนอาจกลายเป็น "มหาอุทกภัย" ของภาคใต้อีกปีหนึ่ง
ในส่วนของแนวทางการ 'รับมือและแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม' ในอนาคต ศ.ดร.ธนวัฒน์ มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาล ว่า ต้องปรับปรุงการบริหารจัดการเขื่อนใหม่ เริ่มจากทบทวนปริมาตรการกักเก็บน้ำของเขื่อน เพราะการตัดไม้ทำลายป่าที่ต้นน้ำส่งผลให้หน้าดินถูกชะล้างลงมายังเขื่อน กลายเป็นตะกอนทำให้เขื่อนตื้น ปริมาตรของเขื่อนจึงลดลงจากปริมาตรจริงเมื่อตอนออกแบบ นอกจากนั้น ตะกอนยังกัดเซาะเขื่อนด้วย โดยเฉพาะเขื่อนที่สร้างมานานหลายสิบปี ขั้นต่อมาคือ การเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศรอบเขื่อนที่เป็นปัจจุบันมาใช้ในการพิจารณาและพยากรณ์การปล่อยและกักเก็บน้ำ เนื่องจากส่วนใหญ่เขื่อนอาจยังใช้ข้อมูลที่เก่าเกินไป หรือถ้าจะแบ่งแผนสู้วิกฤตอุทกภัยเป็นข้อๆ ก็ประกอบด้วย1.รัฐควรเร่งปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้าและปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ และสามารถรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที2.เร่งวางแผนแม่บทมาตรฐานการป้องกันน้ำท่วมโดยสิ่งก่อสร้างและต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแล ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ3.ควรกำหนดแผนการพัฒนากรุงเทพมหานครและเมืองบริวาร ได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี และฉะเชิงเทรา (เดเวลล็อปเมนต์ โคริดอร์) เนื่องจากพื้นที่เดิมของกรุงเทพฯ นั้นเป็นทางน้ำผ่าน ภายใน 20-30 ปีข้างหน้าจะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ระบายน้ำ4.ควรมีแผนระยะยาวในการก่อสร้างเส้นทางด่วนระบายน้ำท่วม หรือ "ฟลัด ซูเปอร์ ไฮเวย์" ซึ่งไม่ใช่การขุดคลองใหม่ แต่เป็นการเว้นระยะออกไปจากคลอง 1 กิโลเมตร แล้วก่อสร้างถนนสูงขึ้นไป 5 เมตร เพื่อใช้เป็นกำแพงกั้นน้ำ ส่วนตอนที่ไม่มีน้ำอาจใช้เป็นพื้นที่สาธารณะได้ด้วย และเมื่อระบบเข้าที่ไม่มีน้ำท่วมจะต้องมีการจัดเก็บภาษีทางตรงเข้ากองทุนเพื่อนำไปบริหารน้ำท่วมและชดเชยให้ผู้ประสบภัย รวมทั้งเก็บภาษีโรงเรือน 20 เท่า จากผู้ที่ไปปลูกสิ่งก่อสร้างในพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันพื้นที่รับน้ำธรรมชาติไว้ 5.วางผังแม่บทการเพาะปลูกในลุ่มน้ำท่วม เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ทันเวลา 6.จัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลพิบัติภัยทั้งระบบด้วยบุคลากรที่รอบด้าน"สิ่งที่พูดมาไม่ได้ต้องการไปโจมตีใคร แต่มองในแง่ของการสร้างสรรค์ ประเทศนี้ควรจะต้องมีหลากหลายความคิดเห็น และหลายข้อมูลมาตรวจสอบกัน..
"เราต้องการให้รัฐลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพื่อใช้พิบัติภัยมาเป็นข้ออ้างในการริเริ่มโครงการใหม่ๆ ซึ่งแทนที่จะช่วยให้ดีขึ้นกลับกลายเป็นซ้ำเติมให้ปัญหาเลวร้ายกว่าเก่า" ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าว
ขอขอบคุณที่มา:สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) 8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877 อีเมล :
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.