ปะการังฟอกขาว ยังฟื้นตัวได้ ถ้าสิ่งแวดล้อมปกติ

Wednesday, 24 August 2011 Read 3830 times Written by 
066-coralกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลสำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ชี้สาเหตุหลักเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น แต่สามารถฟื้นตัวได้หากสภาพสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นปกติ...

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และยังได้ร่วมงานวิจัยกับนักวิจัยต่างประเทศ เช่น การศึกษาพันธุกรรมของสาหร่ายซูแซนเทลลี่ ที่อยู่ในปะการังที่ทนต่อการเกิดฟอกขาว การศึกษาอิทธิพลของคลื่นใต้น้ำที่นำมวลน้ำเย็นกระทบแนวปะการังซึ่งอาจทำให้ปะการังปรับตัวทนทานต่อการเกิดฟอกขาว

สำหรับในปี 2553 ทช.ได้สำรวจสภาวะการฟอกขาวของปะการังในน่านน้ำไทย ผลปรากฏว่า เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ (อุณภูมิปกติประมาณ 28-29 องศาเซลเซียส) โดยพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา และอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นถึง 31 องศา เมื่อต้นเดือนเมษายน (อุณหภูมิที่อาจถือว่าเป็นจุดกระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวคือที่ 30.1 องศาเซลเซียส หากปะการังอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 30.1 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ จะทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น) ซึ่งเริ่มเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังมีการฟอกขาวของปะการังทั่วภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ แถบตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ ซีเชลส์ พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย

จากการสำรวจข้อมูลในประเทศไทย พบว่าแนวปะการังทุกจังหวัดทางฝั่งอันดามัน เกิดการฟอกขาวมากกว่า 70 % ของปะการังมีชีวิตที่มีอยู่ และหลังจาก 1 เดือน ปะการังที่ฟอกขาวเริ่มตาย 5 – 40 เปอร์เซ็นต์ (ขึ้นกับสถานที่) สำหรับฝั่งอ่าวไทย พบการฟอกขาวรุนแรงเช่นเดียวกับฝั่งอันดามัน โดยบริเวณกลุ่มเกาะตอนบนของจังหวัดชลบุรี (เกาะสีชัง เกาะนก เกาะสาก เกาะครก เกาะจุ่น) พบการฟอกขาวช้ากว่าจุดอื่นๆ

ข้อสังเกตอื่น ๆ ที่พบคือ บริเวณที่สิ่งแวดล้อมดี มีปะการังหลากหลายมักพบปะการังฟอกขาวไม่เต็มที่ บริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมดีในน้ำลึก มีแนวโน้มฟอกขาวน้อยกว่าในบริเวณน้ำตื้น ส่วนบริเวณน้ำขุ่นแต่การไหลเวียนของกระแสน้ำดี ก็พบว่ามีปะการังที่ไม่ฟอกขาวเลยโดยเฉพาะในที่ลึก ซึ่งน่าจะเกิดจากการปรับตัวให้ทนทานต่อสิ่งแวดล้อม และความขุ่นของน้ำยังช่วยลดปริมาณแสงลงด้วย และแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์พบว่ามีการฟอกขาวมากกว่าปกติ ส่วนแนวปะการังบริเวณฝั่งตะวันตกตามเกาะต่างๆ ทางฝั่งอันดามัน มีแนวโน้มการเกิดฟอกขาวน้อยกว่าด้านอื่นๆ ของเกาะ ซึ่งอาจเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของมวลน้ำจากทะเลลึกที่เข้ามาช่วยบรรเทาผลของอุณหภูมิน้ำทะเล นอกจากนี้ยังพบว่าปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) และ Leptastrea transversaเป็นชนิดที่มีแนวโน้มต้านทานต่อการฟอกขาวได้ดี

ปลัด ทส. กล่าวต่อไปว่า ปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล เกิดขึ้นระดับภูมิภาคหรือระดับโลก จึงไม่สามารถจัดการใดๆ ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลยืนยันได้ว่า ปะการังฟอกขาวฟื้นตัวได้หากสภาพสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาไม่นาน ลักษณะการฟื้นตัวอาจเกิดได้ 2 รูปแบบ คือ
1. ปะการังที่ฟอกขาวสามารถทนสภาพที่อ่อนแอได้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หากอุณหภูมิน้ำลดลง ปะการังที่ฟอกขาวอยู่นั้นก็สามารถดึงสาหร่ายซูแซนเทลลี่สามารถกลับเข้าสู่เนื้อเยื่อ และสามารถฟื้นตัวมีสีดังเดิม กระบวนการฟื้นตัวของแนวปะการังแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เร็วภายใน 2-3 เดือน เมื่ออุณหภูมิลดลงสู่สภาพปกติ (อุณหภูมิลดลงได้เนื่องจากลมมรสุมเข้าหรือมีเมฆฝนมาก) แต่หากสภาพแวดล้อมยังไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ปะการังบางชนิดจะเริ่มตายลง โดยสามารถสังเกตได้จากเริ่มเห็นสาหร่ายและตะกอนที่ขึ้นคลุมปะการัง
2. กรณีที่ปะการังที่ฟอกขาวได้ตายไป พื้นที่แนวปะการังที่เสื่อมโทรมลงจากการตายของปะการังเนื่องจากการฟอกขาวก็ยังสามารถฟื้นตัวได้ โดยมีตัวอ่อนปะการังเข้ามาเกาะในพื้นที่ หรือปะการังบางชนิดที่ยังเหลืออยู่ค่อย ๆ เจริญเติบโตครอบคลุมแนวปะการัง กระบวนการนี้อาจใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี เป็นอย่างน้อย แนวปะการังจึงกลับมามีสภาพดีดังเดิม ทั้งนี้พื้นที่นั้นต้องมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีคุณภาพน้ำดี เช่น น้ำใสสะอาด ปราศจากการรบกวนของกิจกรรมของมนุษย์ มีพื้นแข็งสำหรับตัวอ่อนปะการังลงยึดเกาะเพื่อเจริญเติบโต รวมทั้งมีระบบนิเวศที่ยังอยู่ในสภาพสมดุล ไม่มีการจับปลาหรือสัตว์ที่กินสาหร่ายออกจากพื้นที่มากเกินไป (เนื่องจากสาหร่ายที่คลุมตามพื้นจะทำให้ตัวอ่อนของปะการังไม่สามารถลงเกาะได้ รวมทั้งแก่งแย่งพื้นที่การเจริญเติบโตของปะการัง) แต่หากสมดุลของระบบนิเวศสูญเสียไป การฟื้นตัวของแนวปะการังจะเกิดขึ้นได้ช้ามาก หรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

สำหรับระยะเวลาการฟื้นตัวของแนวปะการังจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการฟอกขาว ปริมาณและความหลากหลายของชนิดปะการังที่เหลืออยู่ในบริเวณนั้น ๆ การกระจายตัวอ่อนจากบริเวณใกล้เคียง และที่สำคัญที่สุดคือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตของปะการัง
"การดำเนินการและการจัดการพื้นที่แนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว ควรส่งเสริมการฟื้นตัวตามธรรมชาติของปะการังหลังการเกิดฟอกขาวโดยการจัดการพื้นที่ เช่น การงดกิจกรรมใดๆ ที่รบกวนปะการัง เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง โดยเฉพาะระยะแรก ๆ หลังการเกิดฟอกขาว ในระยะยาวที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวตามธรรมชาติของปะการัง การเข้าฟื้นฟูโดยมนุษย์อาจกระทำได้โดยใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละบริเวณ และควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังรักษาแนวปะการังที่สามารถต้านทาน หรือทนทาน ต่อการเกิดปะการังฟอกขาวให้เป็นแหล่งกระจายตัวอ่อนของปะการังตามธรรมชาติ ส่วนมาตรการระยะยาว อื่น ๆ ที่ต้องทำคือ การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภาวะคุกคามต่อแนวปะการังเนื่องจากภาวะโลกร้อน" ปลัด ทส. กล่าว

ขอขอบคุณที่มา :www.thairath.co.th/

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank