ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะดำเนินการ REDD+ ได้
เป็นที่รู้กันว่าป่าไม้มีประโยชน์สารพัน เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และเป็นที่เก็บน้ำใต้ดิน ฯลฯ ระยะหลังนี้เรายังได้รู้เพิ่มเติมว่า ป่าไม้มีประโยชน์ในฐานะแหล่งกักเก็บคาร์บอน ช่วยชะลอให้โลกร้อนช้าลงบ้าง แต่โลกนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องดี ๆ บางทีข่าวดีก็มีน้อยกว่าข่าวร้าย ป่าไม้จึงไม่ใช่แหล่งเก็บกักคาร์บอนอย่างเดียว เพราะถ้าป่าตรงไหนเสื่อมโทรม ต้นไม้ผุพังเน่าเปื่อย ป่านั้นก็กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน
ศัพท์ใหม่อายุไม่เกิน 10 ปีอีกคำที่น่ารู้จักคือ REDD plus เป็นคำย่อภาษาอังกฤษของประโยคยาว ๆ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า การลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม (REDD) และ กิจกรรมอนุรักษ์ป่าไม้และการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าของประเทศกำลังพัฒนา (Plus,+)
ไทยเคยมีป่าไม้เกินครึ่งของพื้นที่ประเทศ แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าน้อยมาก สาเหตุหนึ่งที่อ้างกันเมื่อจะตัดไม้ทำลายป่าคือต้องการที่ดินทำกินเพิ่ม แม้ภาครัฐจะพยายามควบคุม และป้องกันการทำลายป่า แต่ก็ยังทำได้ไม่ทั่วถึง เพราะขาดกำลังคนและกำลังทรัพย์สำหรับทำงานให้มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีเรื่องโลกร้อนซึ่งเป็นวาระระดับโลกเพิ่มเข้ามา ภาครัฐก็ต้องเข้มงวดมากขึ้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ดังนั้นจึงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาการทำลายป่าโดยด่วน
REDD+ เป็นข้อตกลงระดับนานาชาติว่า จะต้องลดอัตราการทำลายป่า ลดการเสื่อมโทรมของป่า อนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ รักษาคาร์บอนในป่าด้วยการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เพิ่มการสะสมคาร์บอนในป่าด้วยการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่ม ภาครัฐที่ดูแลงานเหล่านี้คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากดำเนินการได้ผล รัฐจะได้ทั้งแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ เพื่อเสริมศักยภาพในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำและเพิ่มพื้นที่ป่า ทั้งยังจะมีภาพลักษณ์ที่ดีเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาคมโลกเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทว่า การจะทำงานให้ได้ผลต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนใกล้ป่า ซึ่งรวมถึงเจ้าของที่ดินใกล้ป่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินโดยนิตินัยหรือโดยพฤตินัย (คืออาศัยทำกินในที่นั้นเป็นเวลานาน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์) ชุมชนที่เคยใช้ทรัพยากรป่าไม้ตามอำเภอใจไร้การควบคุม จะเก็บของป่า จะล่าสัตว์ ตัดไม้ทำฟืน หรือทำอะไรที่ยิ่งกว่านั้น ก็ทำได้ตามชอบ แต่หากดำเนินการตามข้อกำหนดของ REDD plus ก็จะต้องจำกัดการใช้ประโยชน์จากป่า
เมื่อนักวิจัยศึกษาผลดีผลเสียของเรื่องนี้ก็พบว่า เมื่อภาครัฐไม่อาจจัดการเรื่องการถือครองที่ดินหรือบุกรุกป่าได้โดยเด็ดขาด องค์กรนานาชาติที่สนับสนุนเงินทุนดำเนินโครงการนี้ ก็มีท่าทีว่าจะยกเลิกการสนับสนุน ซึ่งจะส่งผลเสียระยะยาวแก่ประเทศ ภาครัฐและองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อส่วนรวมจึงควรทุ่มเททำความเข้าใจกับชุมชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทั้งของประเทศชาติและชุมชนคนใกล้ป่าซึ่งจะได้รับผลเสียโดยตรงจากโลกร้อน
อ้างอิง: Tulyasuwan, N., Henry, M., & Karsenty, A. (2015). REDD plus and tenure: a case study of Thailand. International Forestry Review, 17(4), 414-426.
Photo by IUCN