มาออกแบบบ้านอย่างเก๋ให้คาร์บอนต่ำและทนทานอุทกภัยกันเถอะ
การออกแบบบ้านที่มั่นคง ทนทานอุทกภัย และปรับตัวรับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ
หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงหลายครั้งในบ้านเรา สิ่งที่เหลือไว้ให้เห็นไม่ใช่แค่รอยระดับน้ำบนกำแพงหรือสภาพความเสียหายเท่านั้น แต่ยังได้ทิ้งคำถามที่ว่า เราควรจะเตรียมพร้อมป้องกันบ้านของเราเองอย่างไรบ้าง เมื่อรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเผชิญอุทกภัยที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น
นักวิจัยได้นำข้อมูลกายภาพของเมืองมาซ้อนทับกันเพื่อสร้างแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมบ่อยและรุนแรง เพราะมีน้ำหลากและน้ำฝนมากขึ้น ดังเช่น พื้นที่อำเภอสามโคกและอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี แล้วจึงรู้แน่ชัดว่า พื้นที่นี้จะประสบภัยจากน้ำมากขึ้น และต้องการเตือนประชาชนว่าทุกคนต้องตระหนักและมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการเมืองให้มั่นคง ทนทานการเปลี่ยนแปลง และเอื้อต่อการลดผลกระทบจากน้ำท่วม โดยหนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจมาก คือ “การออกแบบบ้านคาร์บอนต่ำและทนทานอุทกภัย” ถ้าหลาย ๆ บ้านร่วมมือกันก็จะเป็นชุมชนที่มั่นคงและพร้อมรับมือภัยน้ำด้วยกัน
ออกแบบอย่างไรให้เป็น: “บ้านคาร์บอนต่ำและทนทานอุทกภัย”
การออกแบบบ้านมีหลักการว่าต้องปรับตัวรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ด้วยการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ตามแนวคิดของอาคารประหยัดพลังงาน (Low energy building) โดยออกแบบให้เป็น “บ้านที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก” (Passive Design) โดยใช้ปัจจัยธรรมชาติและพึ่งพิงระบบปรับอากาศให้น้อยที่สุด ร่วมกับการออกแบบ Safe-to-failure คือให้ทุกระบบมีประสิทธิภาพ ให้ทนทานและแน่ใจว่าระบบต่างๆ ในบ้าน เช่น ไฟฟ้า สุขาภิบาล จะยังคงทำงานได้ในช่วงน้ำท่วม
ตัวอย่างโครงสร้าง 4 ด้านต้านภัยได้
จากการศึกษาพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและมีรายได้ต่ำ คือ ชุมชนคลองบางบัว และ ชุมชนสังสรรค์นครรังสิต ทำให้ได้กระบวนการออกแบบบ้านและชุมชนคาร์บอนต่ำและทนทานอุทกภัย จากหลักการของ LoDAT-SH ซึ่งต้องพิจารณา 4 ด้าน ได้แก่
- 1.“พัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ”: 20% LC (Low carbon development) ประกอบด้วย การวางแผนออกแบบก่อสร้าง (25% LC1) โดยใช้วัสดุก่อสร้างแบบคาร์บอนต่ำ การวางแนวอาคาร พื้นที่ร่ม และการใช้พื้นผิวสีอ่อนที่เหมาะสม ลดการใช้พลังงานในอาคาร (25% LC2) ระบายความร้อนของหลังคาและเปลือกอาคาร (Facade) อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้แสงธรรมชาติ ใช้พลังงานหมุนเวียน และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน มีการจัดการของเสีย (10% LC3) ตั้งแต่การลดปริมาณและการจัดการขยะจากการก่อสร้างและมูลฝอย การใช้ที่ดิน (25% LC4) โดยพัฒนาพื้นที่เดิมและใช้อย่างหลากหลาย การปลูกบ้านหนาแน่นเพียงใดในพื้นที่นั้น อัตราส่วนพื้นที่สิ่งก่อสร้างต่อพื้นที่สีเขียว และการวางแผนการขนส่ง (15% LC5) ตั้งแต่การออกแบบทางเดินและเส้นทางเดินจากบ้าน/ชุมชนไปถึงระบบการขนส่งสาธารณะ
- 2.“ทนทานอุทกภัย”: 20% DR (Disaster (flood) resilience) ประกอบด้วย การจัดการน้ำ (45% DR1) ทั้งประสิทธิภาพการใช้น้ำและการสำรองน้ำฝน ร่วมกับการออกแบบที่ยืดหยุ่นต่อน้ำท่วม (55% DR2) ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีระบบสำรองข้อมูลและเส้นทางอพยพ ตลอดจนมีหน่วยผลิตอาหารท้องถิ่นในช่วงเกิดอุทกภัย
- 3.“มีส่วนร่วมกับชุมชน”: 40% CP (Community participation) ประกอบด้วย การพิจารณาการเป็นตัวแทนหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายในชุมชน (30% CP1) ระดับการมีส่วนร่วมในชุมชน (40% CP2) และการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก (30% CP3)
- 4.“เหมาะสมกับทุนที่มี”: 20% FC (Financial consideration) เป็นการพิจารณาเรื่องการเงิน ประกอบด้วย ความสามารถในการผ่อนชำระรายเดือน (50% FC1) ผลประโยชน์ทางการเงินจากระยะเวลาคืนทุน (25% FC2) และผลประโยชน์ร่วมที่ไม่ใช่ตัวเงิน (25% FC3)
จะเห็นได้ว่า LoDAT-SH เป็นเครื่องมือสำหรับพิจารณาการออกแบบบ้านและชุมชน เพื่อช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยที่รุนแรงเพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการ และอยู่อาศัยแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การออกแบบบ้านคาร์บอนต่ำและทนทานอุทกภัยให้ได้ผลดีต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน แล้วจึงลงมือก่อสร้างตามขั้นตอน อันเป็นการปรับตัวอย่างง่ายเพื่อลดการสูญเสียและรับมือกับอุทกภัยและ Climate change ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสมาชิกในแต่ละชุมชนมีความรู้ก่อนลงทุนสร้างบ้านก็จะได้บ้านที่เป็น home sweet home/สุขเสมอแม้น้ำท่วม
อ้างอิง : Chanthamas, Y., Anantasuksomsri, S., & Tontisirin, N. (2017). Review of Urban Flood Impact Reduction due to Climate Change Adaption Driven by Urban Planning Management in Pathumthani Province, Thailand. International Review for Spatial Planning and Sustainable Development, 5(4), 42-53.
Charoenkit, S., & Kumar, S. (2017). Building low-carbon and disaster-resilient communities: integrating climate mitigation and adaptation into the assessment of self-help housing design. Mitigation and Adaptation Strategies for Global Change, 22(5), 695-728.
Photo by Nature