อากาศแปรปรวนต้องชวนชาวนาเตรียมสู้ภัย
การรับรู้ของชาวนา ที่นำไปสู่การตัดสินใจปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน...คงยังลำบากไม่พอ! เพราะทุกวันนี้ “ชาวนา” ยังต้องสู้กับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนไปมากเพราะโลกร้อนขึ้นอีกด้วย
มีหลักฐานข้อมูลจากงานวิจัยมากมาย แสดงตัวเลขความแปรปรวนของอุณหภูมิและปริมาณฝน ตลอดจนแนวโน้มของการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นในอนาคต เรื่องนี้จะทำให้ชาวนาเดือดร้อนแน่นอนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ดังนั้น หากชาวนามีความรู้เรื่อง “ภูมิอากาศแปรปรวน” ก็ย่อมจะเร่ง “ปรับตัว” และไม่เฉพาะแต่ชาวนาที่ต้องรู้เรื่องนี้ แต่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องวางแผนรับมือเพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปให้ได้
อะไรทำให้ชาวนาปรับตัว ?
นักวิจัยได้ศึกษาว่า ปัจจัยด้านใดบ้างจะทำให้ชาวนาตั้งใจปรับตัว เพื่อสู้ภัยแล้งและน้ำท่วมเพราะอากาศแปรปรวน และเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มชาวนาที่ปรับตัวและไม่ได้ปรับตัว ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและน้ำน่าน จังหวัดพิจิตร
นักวิจัยมีข้อมูลรายงานสภาพภูมิอากาศในระยะสั้นว่า ในระยะสิบปีที่ผ่านมา มีอุณหภูมิสูงขึ้นและฝนตกน้อยลงจริง ๆ ชาวนาในพื้นที่ก็คิดตรงกัน
ปัจจัยที่มีผลในการปรับตัวของชาวนา ก็คือ การมีประสบการณ์ทำนามานาน มีความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเกษตรและสภาพแวดล้อม จึงมีโอกาสคิดและใช้กลยุทธ์ในการปรับตัวมากขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งคือรายได้ ทุนทางสังคม การฝึกอบรม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวน การสื่อสารด้านการปรับตัวนี้มีอิทธิพลต่อการเพิ่มโอกาสให้ชาวนาปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนชาวนาที่ยังไม่เข้าใจมากนักเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังปรับตัว โดยที่ทุนทางสังคม เช่น เพื่อนบ้าน และกลุ่มชาวนาที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน มีบทบาทสำคัญต่อความเชื่อและพฤติกรรมของชาวนากลุ่มนี้ให้ปรับตัวได้
ก็อยากจะปรับตัว แต่ทว่า...
นักวิจัยได้ศึกษาโดยนำทฤษฎี “พฤติกรรมตามแผน” (Theory of Planned Behavior) มาใช้ประเมินปัจจัยที่มีผลต่อเจตนาหรือความตั้งใจของชาวนาที่อยากปรับตัวรับอากาศแปรปรวน
แล้วพบว่า ชาวนาที่ไม่ได้ปรับตัว แม้ว่าตั้งใจจะทำภายใน 3 ปี นั้น ก็เพราะมีเหตุ ได้แก่ 1 ทัศนคติส่วนบุคคล (Attitude toward the Behavior: ATT) 2 บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norm: SN) และ 3 การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control: PBC)
งานวิจัยระบุว่า ทัศนคติส่วนบุคคลและบรรทัดฐานทางสังคมของชาวนา ที่มีต่อการรับรู้และความสามารถที่จะลงมือปรับตัวเองมีความสำคัญน้อยกว่าความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ดังนั้น เมื่อชาวนาเห็นตัวอย่าง หรือแบบแผน (คือ PBC) เช่น เพื่อนบ้านปรับตัวแล้วดี ก็อยากทำบ้างและคิดว่าถ้าปรับตัวแล้วก็จะได้ผลดีไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องทุนทางสังคม
ในทางตรงกันข้าม ชาวนายังไม่ได้เห็นตัวอย่างหรือรับรู้แบบแผนที่ควรจะปรับตัว จึงยังไม่ได้ปรับตัว นั่นเอง
ดังนั้น ระบบชุมชน การรวมกลุ่ม และการสื่อสารกันของเครือข่ายชาวนาที่ปรับตัวรับอากาศแปรปรวน ทำงานเป็นลำดับขั้นตอนเชื่อมโยงกัน โดยถ่ายทอดความคิดเรื่องการปรับตัวให้ชาวนาที่ยังไม่ปรับตัว ก็น่าจะเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ชาวนากลุ่มนี้ยอมปรับตัวได้มากและเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ก็จะต้องอาศัยนโยบายส่งเสริมการรับรู้และการปรับตัวของชาวนาด้วย โดยควรส่งเสริมกลุ่มที่ปรับตัวแล้ว และที่ตั้งใจจะปรับตัว โดยที่ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย เช่นทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและชาวนา
ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีชาวนาหรือประชาชนที่ยังไม่ตระหนักถึงภูมิอากาศแปรปรวนและยังไม่ได้ปรับตัวมากน้อยแค่ไหน แต่สภาพอากาศแปรปรวนที่รุนแรงก็อาจจะช่วยยืนยันได้ว่า โลกกำลังร้อนขึ้นจริง และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไขและปรับตัวต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง
อ้างอิง : Arunrat, N., Wang, C., Pumijumnong, N., Sereenonchai, S., & Cai, W. J. (2017). Farmers' intention and decision to adapt to climate change: A case study in the Yom and Nan basins, Phichit province of Thailand. Journal of Cleaner Production, 143, 672-685.
Photo by IRRI