ภูมิปัญญาความรู้ชุมชนมีคุณค่าช่วยปรับตัวในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“โลกร้อนคืออะไรหรือ โลกจะร้อนได้อย่างไร ในเมื่อยังมีฤดูฝนฤดูหนาว” ผู้คนมากมายยังงุนงงกับเรื่องนี้ แม้บางคนจะรู้สึกว่า ได้ยินได้ฟังเรื่องโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนท่วมท้นแล้ว แต่คนไทยทุกคนรู้ข้อมูลตรงกัน เข้าใจผลดีผลเสีย รู้วิธีปรับตัวรับโลกร้อนดีแล้วหรือยัง
ผู้ที่เดือดร้อนโดยตรงเพราะโลกร้อนมีทั่วประเทศ เช่น ชนเผ่าทางภาคเหนือของไทย ชาวสวนภาคใต้ หรือ ชาวนากุ้งภาคกลาง แม้จะเดือดร้อนเพียงใดจากการทำมาหากินไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่รู้หรือไม่ว่าโลกร้อน รู้หรือไม่ว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลอย่างไรต่อชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของตน
ชนเผ่าในภาคเหนืออย่างชาวอาข่าและลีซูบนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่จัน จ.เชียงรายมีอาชีพทำการเกษตรบนเขา ชาวอาข่าส่วนใหญ่ปลูกข้าว ข้าวโพด และผลไม้เมืองหนาว ส่วน ชาวลีซูปลูกข้าว ข้าวโพด และถั่วต่าง ๆ ระบบนิเวศเกษตรที่สูงไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์จึงได้ผลผลิตน้อย
เมื่อนักวิจัยลงพื้นที่ภาคเหนือ สัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้าน สอบถามความเห็นของคนในชุมชน และสำรวจพื้นที่ ก็พบว่า ชาวบ้านรู้ดีว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ชาวอาข่าซึ่งอยู่บนดอยที่สูงกว่าชาวลีซูจะรับรู้ได้เร็วกว่าและชัดเจนกว่า เพราะอากาศจะอุ่นขึ้นได้เร็วกว่าพื้นล่าง ว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต อากาศร้อนขึ้น มีคลื่นความร้อน ฤดูร้อนแห้งแล้งกว่าเดิม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณฝนน้อยลง ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูเพาะปลูก เกษตรกรแต่ละหมู่บ้านจึงปรับตัว โดยเลือกเวลาเพาะปลูกให้เหมาะกับชนิดของพืช เช่น เริ่มเวลาปลูกธัญพืชคือข้าว ข้าวโพด และถั่ว ช้ากว่าเดิม 1-4 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นให้ไม้ผล เช่น เชอร์รี่ ลิ้นจี่ ท้อ พลับ ฯลฯ นอกจากนี้ยังปลูกพืชหลายชนิด ชะลอเวลาเก็บเกี่ยว ปันส่วนน้ำ และอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ
ส่วนจังหวัดทางภาคกลางอย่างฉะเชิงเทรานั้น มีชาวนากุ้งที่รับรู้ว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้น้ำท่วมบ่อยและรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมในฤดูมรสุม กุ้งจะถูกน้ำพัดหายไป ชาวนากุ้งจึงต้องปรับตัวตามความสามารถและปัจจัยอื่น ๆ เช่น ชาวนากุ้งที่มีการศึกษา มีประสบการณ์การทำนากุ้ง มีฐานะ และทำนากุ้งขนาดใหญ่ จะสร้างคันกั้นน้ำและคลุมตาข่ายป้องกัน ทว่า ป้องกันอย่างไรก็ยังไม่พอที่จะลดความเสียหายได้ เพราะการออกแบบ การก่อสร้าง และการป้องกันไม่เหมาะสม ส่วนเจ้าของนากุ้งขนาดเล็กก็มีเงินไม่พอปรับปรุงนากุ้ง หากจะให้ได้ผลผลิตที่ดีก็ควรส่งเสริมให้บริหารจัดการให้ดีขึ้น เช่น จับกุ้งก่อนน้ำท่วม และเปลี่ยนช่วงเวลาเพาะเลี้ยงกุ้งในแต่ละปี
งานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้ได้ผลวิจัยที่สอดคล้องกันว่า เกษตรกรรับรู้เรื่องผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และหาทางปรับตัวเพื่อรับมือแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ การจะรอให้เกษตรกรลองผิดลองถูก แก้ปัญหาเองจะชักช้าไม่ทันการ ส่งผลเสียทั้งต่อเกษตรกรและประเทศชาติ ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้จากภายนอกชุมชน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้งบประมาณเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและป้องกันปัญหา วางนโยบายและแผนการปรับตัวที่ชัดเจน เพื่อส่งผลดีโดยตรงคือให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหา ใช้ภูมิปัญญาหาวิธีป้องกันและแก้ไขโดยจัดการให้ทันเวลาด้วย จึงจะช่วยชีวิตได้
อ้างอิง:
Shrestha, R. P., Chaweewan, N., & Arunyawat, S. (2017). Adaptation to Climate Change by Rural Ethnic Communities of Northern Thailand. Climate, 5(3), 16.
Seekao, C., & Pharino, C. (2016). Key factors affecting the flood vulnerability and adaptation of the shrimp farming sector in Thailand. International Journal of Disaster Risk Reduction, 17, 161-172.
Photo by World Wildlife Fund