การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคขนส่ง
ในบรรดาความเสียหายนานาประการของไทยเพราะสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง มีเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องแต่อาจจะไม่ทันนึกว่ามีส่วนสร้างปัญหาไม่น้อย นั่นก็คือการเดินทางและการขนส่ง
ภาคการขนส่งใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมากและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ตระหนักว่าต้องปรับตัว ไม่เพียงเพราะโลกร้อน แต่เพราะพลังงานฟอสซิลลดน้อยลงทุกวัน ราคาก็จะสูงขึ้นเพราะเป็นของหายาก ในระดับโลกจึงมีการสนับสนุนให้ปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้แนวปฏิบัติใหม่ ๆ
การปรับนโยบายด้านการขนส่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ควบคุมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับปรุงสาธารณูปโภคให้พร้อมรับสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน ด้านลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ทำได้ทั้งการใช้รถรุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานยูโร 4 ใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ ๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง ส่วนการปรับปรุงสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการขนส่งก็เช่น การปรับปรุงถนนหนทาง ประเทศไทยมีเครือข่ายทางหลวงชนบทขนาดใหญ่ ซึ่งถูกน้ำท่วมเสียหายบ่อย ๆ สาเหตุมีทั้งจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดฝนหรือพายุหนักจนน้ำท่วม หรือเพราะตัดถนนขวางทางน้ำ กรมทางหลวงชนบทไม่อาจตัดถนนใหม่ได้ทุกหนทุกแห่ง จึงต้องบำรุงรักษาถนนเดิม หรือขยายถนนให้กว้างขึ้น ปัจจุบันนี้เน้นการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในวัสดุสร้างหรือซ่อมบำรุงถนน ให้ถนนคงทนมากขึ้น ไม่ต้องซ่อมหรือสร้างบ่อย ๆ ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
อีกวิธีหนึ่ง คือ จัดทำระบบจัดการน้ำท่วม ซึ่งประกอบด้วย ป้ายเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับผู้ใช้ถนน การประเมินอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น การคาดการณ์งบประมาณสำหรับซ่อมถนน และการจัดเตรียมงบประมาณต่าง ๆ โดยออกแบบโปรแกรมที่ใช้งานผ่านเว็บไซต์ในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นจัดการปัญหาน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการถอดบทเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เพื่อวางกลยุทธ์สำหรับใช้ออกแบบถนน การบำรุงรักษา และการจัดการที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาน้ำท่วมถนนในบริเวณที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หรือปัญหาใช้รถบรรทุกหนักจนถนนทรุดบ่อย ๆ เช่น ถนนพระรามสอง ผู้วิจัยแนะนำว่า ควรออกแบบถนนให้พร้อมรับน้ำท่วมฐานราก โดยสร้างถนนคอนกรีตหรือคอนกรีตผสมแอสฟัลต์แทนที่จะสร้างถนนราดยางมะตอย (แอสฟัลต์) อย่างเดียว ทำระบบระบายน้ำจากถนน วางนโยบายให้มีช่วงงดใช้ถนนหลังน้ำท่วมเพื่อให้ถนนฟื้นตัว และควรออกแบบถนนให้เหมาะกับพื้นที่ จำนวนรถยนต์ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และรถบรรทุก
คำว่า “งบประมาณไม่เพียงพอ” เป็นข้ออ้างประการหนึ่งของการสร้างถนนที่ชำรุดง่าย แต่เมื่อชำรุดก็ต้องเสียงบประมาณซ่อมแล้วซ่อมอีก ดังนั้น หากจัดงบประมาณให้พอสร้างถนนที่มั่นคงถาวรโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อน ก็ย่อมจะลดการใช้พลังงาน ลดอุบัติเหตุ และลดมลพิษต่าง ๆ ได้ด้วยอย่างแน่นอน
เรื่องที่กล่าวข้างต้น คือการสร้างการซ่อมบำรุงถนนหนทางนั้น ดูเหมือนเป็นงานของภาครัฐเท่านั้น แต่ที่จริงเป็นเรื่องของทุกคน เพราะการขนส่งผู้โดยสาร การเดินทางท่องเที่ยว การขนย้ายวัสดุต่าง ๆ ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ย้อนไปถึงการผลิตพาหนะทางบกทุกชนิด ฯลฯ ต้องคำนึงถึงการใช้เชื้อเพลิง ดังนั้น หากเราเดินทางกันน้อยลง ใช้เทคโนโลยีช่วยให้ทำงานที่บ้านได้ ใช้รถสาธารณะแทนรถส่วนตัว กินอยู่อย่างประหยัด ไม่ต้องสรรหาของแปลกจากต่างประเทศหรือของไกลบ้านมากินมาใช้ ก็จะลดการใช้พลังงานเพื่อการเดินทางและขนส่งได้มาก เท่ากับว่าได้ลดสารพิษต่าง ๆ ได้นั่นเอง
จะเห็นว่า โลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบกับชีวิตของเราได้ทุกแง่มุม ฉะนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อเราจะได้อยู่ร่วมโลกกันอย่างมีความสุขได้อีกนาน ๆ
อ้างอิง: Rattanachot, W., Wang, Y., Chong, D., & Suwansawas, S. (2015). Adaptation strategies of transport infrastructures to global climate change. Transport Policy, 41, 159-166.
Photo by HeidelbergCement Group