ป่านี้มีคุณอันใหญ่หลวงเกินคาดคิด - ต้นไม้ ป่าไม้ช่วยดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย!
หากจะตอบคำถามว่า ทำไมโลกร้อน ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็น่าจะตอบว่า เพราะมีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในบรรยากาศของโลกมากเกินไป เมื่อจะแก้ปัญหาที่สาเหตุก็ต้องลดก๊าซนี้ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งนอกจากจะลดด้วยการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ใช้ธรรมชาติช่วยดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Removal) มาเก็บไว้ โดยสถานที่เหมาะจะกักเก็บคาร์บอนก็คือบริเวณที่มีต้นไม้หรือพืชพรรณจำนวนมากหรือป่านั่นเอง นักวิจัยได้ศึกษาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของป่าประเภทต่าง ๆ ด้วยอย่างเช่น ป่าไผ่ และ ป่าชายเลน
คนไทยคุ้นเคยกับไผ่ดี เพราะนอกจากเป็นไม้ที่ขึ้นง่าย โตไวแล้ว เมื่อถึงฤดูฝนก็ยังมีหน่อไม้ให้เราทำอาหารอร่อย ๆ ได้หลายชนิด นอกจากนี้ต้นไผ่ยังมีประโยชน์ ที่ช่วยป้องกันดินทลายบริเวณสันเขา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน ไม้ไผ่ใช้ทำเครื่องเรือนและวัสดุก่อสร้างตลอดจนของเล่น แม้นักวิชาการหลายคนจะเห็นว่า ไผ่เป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศเดิมและมีประโยชน์น้อย แต่ไผ่มีคุณค่ามากกว่าที่เห็นกันทั่วไป
อันที่จริง ระบบนิเวศป่าไผ่มีประโยชน์มากเพราะกักเก็บคาร์บอนได้ ช่วยลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อรวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการ 184 เรื่องที่ศึกษาชีวมวลของต้นไผ่ 70 สายพันธุ์ พบว่า ระบบนิเวศป่าไผ่มีค่าคาร์บอนรวมต่ำกว่าป่าไม้ทั่วไป แต่เทียบเท่ากับสวนยางพารา และสูงกว่าป่าปลูก สวนปาล์ม พุ่มไม้ และทุ่งหญ้า
เมื่อสำรวจป่าไผ่เปรียบเทียบกับป่าดิบ บริเวณลุ่มน้ำแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นป่าที่ปลูกในพื้นที่ทิ้งร้างจากการทำเกษตรมาประมาณ 25-30 ปีแล้ว ผลการศึกษาแสดงว่า ป่าไผ่สะสมคาร์บอนในชีวมวลและในดินได้มาก หากให้น้ำและสารอาหารเพียงพอ ตัดแต่งหรือเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม ป่าไผ่ก็จะสะสมคาร์บอนระยะยาวได้
ส่วนป่าชายเลนรวมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำเค็มและแหล่งหญ้าทะเลก็จัดเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ ทว่า แต่ละปีมีต้นไม้ที่หักโค่น ล้มตาย และผุสลายไปตามธรรมชาติจำนวนมาก เมื่อต้นโกงกางย่อยสลายก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงต้องประเมินศักยภาพการตรึงคาร์บอนของต้นโกงกางให้แม่นยำ จะได้ทราบว่า ป่าชายเลนจะมีส่วนช่วยลดปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด
นักวิจัยศึกษาต้นโกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculate) ในป่าปลูกชายเลน จังหวัดตราด เพื่อใช้เป็นตัวแทนของป่าชายเลนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้วิธีวิเคราะห์การแลกเปลี่ยนก๊าซเปรียบเทียบกับวิธีวิเคราะห์กราฟเจริญ ศึกษาต้นโกงกางใบเล็กอายุ 3, 4, 5 และ 9 ปี พบว่าวิธีวิเคราะห์การแลกเปลี่ยนก๊าซมีแนวโน้มที่จะให้ค่าสูงเกินเมื่อต้นโกงกางใบเล็กอายุน้อย นอกจากนี้ ยังไม่มีวิธีประเมินค่าการปลดปล่อยคาร์บอนจากรากที่อยู่ใต้ดิน เมื่อจะศึกษาในอนาคตจึงควรเก็บข้อมูลชีวมวลที่อยู่ใต้ดิน เพื่อปรับปรุงการประเมินศักยภาพการตรึงคาร์บอนด้วยวิธีวิเคราะห์การแลกเปลี่ยนก๊าซต่อไป
แม้ผลการวิจัยยังไม่ครอบคลุมอีกหลายประเด็น แต่ก็เห็นผลโดยรวมว่าป่าทุกประเภทมีประโยชน์ จึงควรช่วยระดมสรรพกำลังปลูกป่าให้ทันก่อนที่โลกจะร้อนมากกว่านี้ ควรช่วยกันรักษาป่าดั้งเดิมไว้ และส่งเสริมให้ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีใช้ประโยชน์จากป่าให้เต็มที่ เพราะต้นไม้ทุกต้น แม้กระทั่งต้นหญ้าก็มีประโยชน์เกินคาด
อ้างอิง :
Yuen, J. Q., Fung, T., & Ziegler, A. D. (2017). Carbon stocks in bamboo ecosystems worldwide: Estimates and uncertainties. Forest Ecology and Management, 393, 113-138.
Okimoto, Y., Nose, A., Oshima, K., Tateda, Y., & Ishii, T. (2013). A case study for an estimation of carbon fixation capacity in the mangrove plantation of Rhizophora apiculata trees in Trat, Thailand. Forest Ecology and Management, 310, 1016-1026.
Photo by www.international-climate-initiative.com