การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมหลัก
ภาคอุตสาหกรรมในไทยทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล แม้ว่ามีการจ้างงานจำนวนมาก แต่ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตเช่นกัน
ภาคอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าส่งออกเหล็กผ่านกรรมวิธี มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนการผลิตเหล็กกล้าคุณภาพสูงให้ทั้งพอใช้ในประเทศและส่งออก ค.ศ. 2012 ไทยส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าถึง 160,180 ตัน เมื่อผลิตเพื่อส่งออกได้มากเช่นนี้ ก็ย่อมมีปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงมีงานวิจัยที่ใช้แนวทางของ IPCC ศึกษาการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับเสนอรายงานสองปีเรื่องบัญชีก๊าซเรือนกระจก วางบรรทัดฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมโครงการฉลากลดคาร์บอนและรอยเท้าคาร์บอน (หรือที่เรียกว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งก็คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ หรือที่ปล่อยออกมาทั้งหมดจากวงจรกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ) รวมทั้งเสนอสภาพการณ์ที่ควรจะเป็นสำหรับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน ค.ศ. 2050
มีผลงานวิจัยว่า หากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ก็ควรปรับปรุงการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีดีที่สุด มิฉะนั้น ใน ค.ศ. 2050 หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด อุตสาหกรรมนี้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจาก ค.ศ. 2010 ราว 7.05 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อ ค.ศ. 2011 ประมาณ 36 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ มีรายงานวิจัยที่ประมวลข้อมูลจากบริษัทปูนซีเมนต์ห้าแห่งของประเทศไทยว่า อุตสาหกรรมนี้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก หากทดแทนด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่น รวมทั้งหาวัตถุดิบอื่นมาใช้แทนปูนเม็ดก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก
ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีภัณฑ์ขั้นต้นซึ่งใช้พลังงานราวร้อยละ 5 – 6 ของการใช้พลังงานรวมทั้งประเทศนั้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 3 อุตสาหกรรมนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเช่นกัน
ในวงวิชาการยังมีงานวิจัยไม่มากนักเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีภัณฑ์นี้รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นของประเทศ หากต้องการข้อมูลซึ่งจะนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะต้องสนับสนุนให้ทำวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก
อ้างอิง: Juntueng, S., Towprayoon, S., & Chiarakorn, S. (2014). Energy and carbon dioxide intensity of Thailand's steel industry and greenhouse gas emission projection toward the year 2050. Resources, Conservation and Recycling, 87, 46-56.
Tangthieng, C. (2017). Inventory-Based Analysis of Greenhouse Gas Emission from the Cement Sector in Thailand. Engineering Journal-Thailand, 21(5), 125-136.
Kanchanapiya, P., Julapun, N., Limphitakphong, N., Pharino, C., & Chavanparit, O. (2015). Evaluation of emission and reduction of greenhouse gases from upstream petrochemical industry in Thailand. Environment Protection Engineering, 41(2), 31-46.
Photo by Fibre2Fashion