มาตรฐานเครื่องยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้อากาศในกรุงเทพฯ สะอาดขึ้น
แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
ก๊าซเรือนกระจกดูดซับคลื่นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดได้ดี จึงจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ แต่ถ้ามีมากเกินไป อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น อย่างที่เรียกกันว่าโลกร้อนนั่นเอง
ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ มี 7 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ทว่า ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ นั่นก็คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นในตู้เย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากในพิธีสารมอนทรีออลได้ระบุให้จำกัดการใช้ไว้แล้ว
การขนส่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก จึงเป็นตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์กับก๊าซพิษอื่น ๆ อย่างคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ไนโตรเจนออกไซด์ รวมทั้งฝุ่นละอองด้วย เรื่องการขนส่งนั้น กรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมณฑลห้าจังหวัดติดอันดับหนึ่งในสิบมหานครของโลกที่มีปัญหาการจราจรติดขัดรุนแรง เพราะพื้นที่ 7,700 ตารางกิโลเมตรนี้ มีผู้คนอยู่ราว 12.6 ล้านคน มียานพาหนะชนิดต่าง ๆ รวมแล้วราว 10 ล้านคัน การใช้พาหนะต่าง ๆ ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ขนาดเล็ก และรถบรรทุกแบบต่าง ๆ ก่อมลพิษ อันเป็นต้นเหตุปัญหาคุณภาพอากาศซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ผลการวิจัยรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทย ค.ศ. 2015 เมื่อเทียบกับค่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ. 2007 ถึง 2014 พบว่าสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ดีขึ้น โดยพบว่าปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 139 พันตัน ลดลง 7.9% ปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน 103 พันตัน ลดลง 4.1% ปล่อย สารอินทรีย์ระเหยง่ายซึ่งไม่รวมมีเทน 19.9 ลดลง 6.7% ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 0.87 พันตัน ลดลง 25.8% ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมคอน 4.9 พันตัน ลดลง 5.5% ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน 5.1 พันตัน ลดลง 7.9% และเขม่าดำ 3.1 พันตัน ลดลง 2.5% และ สารอินทรีย์คาร์บอน 1.4 พันตันลดลง 7.7% ยกเว้น แอมโมนีย 1.1 พันตัน เพิ่มขึ้น 7.85% เนื่องจากมาตรการกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ EURO และคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง ยกตัวอย่าง มาตรการเช่น หรือเปลี่ยนจากใช้น้ำมันเป็นใช้ก๊าซในช่วง ค.ศ. 2008 – 2013 ทว่า ค่ามลพิษก็ยังสูงเกินมาตรฐาน
ในทางกลับกันค่าการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2015 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบว่า การขนส่งทางถนนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 15 พันตัน เพิ่มขึ้น 1.6% ปล่อยมีเทน 8.6 พันตัน เพิ่มขึ้น 6.8% และปล่อยไนตรัสออกไซด์ 0.59 พันตัน เพิ่มขึ้น 1.3% เนื่องจากจำนวนยานยนต์เพิ่มจาก 6.3 ล้านคันเมื่อ ค.ศ. 2007 เป็น 10 ล้านคัน เมื่อ ค.ศ. 2015 เฉลี่ยเพิ่มปีละ 6% รถเหล่านี้ต้องใช้เชื้อเพลิง แต่ก็มีการปรับปรุงให้ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ดีขึ้น
แผนอนุรักษ์พลังงาน ตั้งเป้าว่าจะต้องลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ภายใน ค.ศ. 2036 เมื่อเทียบกับ ค.ศ. 2010 มีรายงานวิจัยว่า หากต้องการลดให้ได้เท่านี้ ภาคการขนส่งต้องลดการใช้พลังงานลง 69% โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 58 ของยานพาหนะทั้งหมด จะต้องปรับมาตรฐานยานยนต์ให้ตรงตามมาตรฐาน Euro 4 และปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้ดีขึ้น โดยลดสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซล รวมทั้งลดปริมาณสารก่อมะเร็งในน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อากาศในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสะอาดขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ทุกคนที่อาศัยในมหานครกรุงเทพแห่งนี้ก็จะมีสุขภาพดีขึ้นได้
อ้างอิง : Cheewaphongphan, P., Junpen, A., Garivait, S., & Chatani, S. (2017). Emission Inventory of On-Road Transport in Bangkok Metropolitan Region (BMR) Development during 2007 to 2015 Using the GAINS Model. Atmosphere, 8(9), 167.
Photo by JeHoyNews