“น้ำท่วมไทย” ปัญหาที่จัดการได้ เพียงรู้ให้เท่าทัน
“น้ำท่วมลุ่มน้ำชี ทำอย่างไรดีจึงจะไม่มีปัญหา”
“ปัญหาน้ำท่วม” ดูจะกลายเป็นภัยพิบัติประจำประเทศไทยไปเสียแล้ว อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับอิทธิพลลมมรสุมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ทั่วประเทศพากันเดือดร้อน
“การรู้เท่าทันน้ำท่วม” จึงมีความจำเป็นอย่างมาก นักวิจัยได้ศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างไร ในลุ่มน้ำย่อยลำปาว แม่น้ำชี ทำให้ได้ข้อมูลสำหรับคาดการณ์ในอนาคต เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้ (ที่เราควรรู้) สำหรับวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพในการตั้งรับและจัดการปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
“รู้น้ำฝน” จากข้อมูลปริมาณฝนรายวันและค่าความชื้นสัมพัทธ์ ในแบบจำลองภูมิอากาศโลก (GCM) โดยย่อส่วนลงในพื้นที่ศึกษาด้วยวิธีทางสถิติ เมื่อเทียบผลการคาดการณ์กับฐานข้อมูลในช่วง พ.ศ. 2504-2553 ปรากฏผลว่า ปริมาณฝนในลุ่มน้ำชีจะเพิ่มขึ้นเพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
เมื่อเทียบกับข้อมูลที่ตรวจวัดได้ในสถานีขอนแก่น พบว่า ใน พ.ศ. 2554-2583, 2584-2613, และ 2614-2643ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น (จากปีฐาน 1,227.72 มิลลิเมตร) ร้อยละ 15.76, 18.37 และ 21.99 เทียบกับสถานีร้อยเอ็ดแล้วได้ผลว่าปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น (จากปีฐาน 1,375.30 มิลลิเมตร) ร้อยละ 68.46, 100.51 และ 160.27 ตามลำดับ
เมื่อรู้ปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับได้รู้ว่า อาจเกิดน้ำท่วมก็ได้ โดยเมื่อฝนตกในลุ่มน้ำ หากดินและพืชรับน้ำจนอิ่มตัวและรองรับไม่ไหวอีกแล้ว น้ำส่วนเกินก็จะไหลผ่านหน้าดินเป็นน้ำท่า (stream flow) ไหลลงแม่น้ำ และเอ่อล้นท่วมพื้นที่ได้
“รู้น้ำท่า” การใช้ค่าปริมาณฝน มาคำนวณปริมาณน้ำท่าและอัตราการไหลของน้ำในลำน้ำชี โดยใช้แบบจำลอง The Soil and Water Assessment Tool หรือ SWAT แล้วนำข้อมูลเข้าแบบจำลองพลวัตอุทกศาสตร์ พบว่า ปริมาณน้ำเฉลี่ยต่อปีและการไหลของกระแสน้ำต่อวันสูงสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังต่อไปนี้ พ.ศ. 2554-2583, 2584-2613 และ 2614-2643 จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น (จากปีฐาน 898.36 ล้านลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 190.19, 214.94 และ 239.84 และการไหลสูงสุดที่ 220.79, 239.44 และ 258.09 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามลำดับ
“รู้พื้นที่” การจำลองภูมิประเทศลำน้ำ หรือที่เรียกว่า Profile พื้นที่หน้าตัดของลำน้ำ ที่นำมาคำนวณพื้นที่รับน้ำ หากปริมาณน้ำท่ามีเกินพื้นที่นั้นจะรับได้ น้ำก็จะท่วมพื้นที่นั้นมากขึ้น (flood area) โดยใน พ.ศ. 2554-2583 และ 2584-2613 จะมีพื้นที่น้ำท่วมเป็น 115.20 และ 124.93 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ และอาจสูงขึ้นถึง 134.66 ตารางกิโลเมตร ใน พ.ศ. 2614-2643
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงปีที่น้ำท่วมใหญ่คือ ค.ศ.2011 พบว่า มีค่าน้อยกว่าทั้งค่าการไหลของกระแสน้ำรายวันสูงสุดและพื้นที่น้ำท่วม ทั้งนี้ อาจใช้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองประเมินเหตุการณ์น้ำท่วม ความเสียหาย และประเมินการป้องกันน้ำท่วมที่ภาครัฐดำเนินการได้ผล
“รู้ระดับ” ระดับความสูงของน้ำท่วม เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดของความรุนแรงและอันตรายจากน้ำท่วม โดยน้ำท่วมรุนแรงถูกออกแบ่งเป็น 3 ระดับตามความสูง คือ ระดับต่ำ (น้อยกว่า 20 เซนติเมตร) จะทำให้เกิดความไม่สะดวก ระดับปานกลาง (20-40 เซนติเมตร) ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำและต้องอพยพในบางพื้นที่ และระดับสูง (มากกว่า 40 เซนติเมตร) เป็นน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง
โดยข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม ระดับน้ำท่วม และความเสี่ยงนี้ จะประกอบขึ้นเป็น แผนที่แสดงอันตรายจากน้ำท่วม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังภัยน้ำท่วม
“รู้แล้วจัดการ” ปัจจัยสำคัญท้ายสุด คือ การพิจารณาความสัมพันธ์ขององค์ความรู้ทั้งหมดในการตัดสินใจเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนและทรัพย์สินจากน้ำท่วม แนวทางการบริหารจัดการ มี 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น (ก่อนฤดูฝน) โดยการทำแผนที่โซนน้ำท่วมและแผนควบคุม รวมถึงการจัดการสินทรัพย์และการรับรู้ของชุมชน ระยะเกิดน้ำท่วม (ช่วงฤดูฝน) โดยการเตือนภัยและวางแผนน้ำท่วมฉุกเฉิน และระยะแผนฟื้นฟู (หลังน้ำท่วม) โดยการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง การประกันภัย และการส่งเสริมรายได้ ตลอดจนการประเมินแผนการจัดการน้ำท่วมที่ผ่านมา เพื่อการปรับปรุงแผนการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นต่อไป
จะเห็นได้ว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ทั้งรัฐบาล ผู้บริหารท้องถิ่น และประชาชน รวมความว่าเราทุกคนควรรับรู้ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนี้อย่างรอบด้าน และร่วมกันวางแผนจัดการน้ำท่วมเพื่อป้องกันปัญหา ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินทั้งของตนเองและส่วนรวม รวมทั้งลดสาเหตุที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาที่ชื่อว่า Climate change ด้วย
อ้างอิง: Arunyanart, N., Limsiri, C., & Uchaipichat, A. (2017). Flood hazards in the Chi River Basin, Thailand: impact management of climate change. Applied Ecology and Environmental Research, 15(4), 841-861.
Photo by The Asia Foundation