อนาคตของน้ำท่า น้ำกิน น้ำใช้ กรณีลุ่มน้ำลำตะคอง
พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สำคัญยิ่งของภาคอีสาน ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จนถึงตัวเมืองนครราชสีมา มีทั้งแม่น้ำ ป่าไม้ และพื้นที่ทำการเกษตร บริเวณรอบเขาใหญ่มีรีสอร์ท โรงแรม สนามกอล์ฟ และที่พักอาศัยจำนวนมากทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ ช่วงกลางแม่น้ำใต้เขื่อนลำตะคองมีระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ส่วนช่วงปลายน้ำคือตัวเมืองนครราชสีมาซึ่งมีชุมชนหนาแน่นอันเป็นสาเหตุของน้ำเสีย หลายปีมานี้ ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำนี้ลดลง เพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและการใช้ที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การทำอุตสาหกรรม การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ล้วนส่งผลต่อปริมาณการระเหยของน้ำ การเติมน้ำใต้ดิน และการไหลของน้ำท่า ส่วนสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร ปริมาณการคายและการระเหยน้ำของพืช การอิ่มตัวของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิ และปริมาณฝน
คนต้องพึ่งพาน้ำและที่ดินเพื่อดำรงชีวิต จึงจำเป็นต้องเริ่มศึกษาเพื่ออธิบายและคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อระบบอุทกวิทยาในลุ่มน้ำลำตะคอง เพื่อหาแนวทางปรับตัวและจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมที่เหมาะสม ผู้อาศัยและใช้น้ำจากลำตะคองควรรู้สภาพปัจจุบัน และสาเหตุของปัญหาที่จะส่งผลในอนาคต ซึ่งแต่ละคนอาจจะเป็นผู้ร่วมก่อปัญหาด้วย เมื่อทราบแล้วจะได้ช่วยกันรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนไว้ให้ดี ๆ
การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2015 ได้คำตอบว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตลอดช่วง 10 ปี ระหว่าง ค.ศ. 2002 – 2011 นั้นส่งผลต่อระบบอุทกวิทยาเพียงเล็กน้อย ทว่าเมื่อศึกษาโดยใช้การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 56 ปี ระหว่าง ค.ศ. 2010 – 2065 ก็เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลมากต่อทั้งปริมาณน้ำและการไหลของน้ำสู่พื้นที่ลุ่มน้ำ ผลวิจัยชี้ชัดว่า ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีในอนาคต มีค่าเฉลี่ย 68 (0-182) มิลลิเมตรต่อปี ลดลงราวร้อยละ 63.27 เมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน และอัตราการไหลของน้ำในลำน้ำในอนาคต มีค่าเฉลี่ย 0.92 (0.17-5.11), 1.17 (0.13-14.29) และ 0.20 (0.00-35.20) ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับล้ำน้ำบริเวณต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ตามลำดับ ซึ่งแตกจากอัตราการไหลของน้ำในช่วง ค.ศ. 2001-2007 ที่มีค่าระหว่าง 0.81–27.83, 1.06– 38.67 และ 1.03–15.66 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในอนาคตอันใกล้ พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองจะขาดแคลนน้ำ อาจเกิดภาวะแห้งแล้งยาวนาน หรือน้ำท่วมรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
หากจะคงสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและเพื่อนร่วมพื้นที่ไว้ให้ได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาระยะยาวในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทั้งลุ่มน้ำลำตะคอง รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ เพื่อจัดทำนโยบายและดำเนินการจัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านั้นให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป
อ้างอิง: Singkran, N., Tosang, J., Waijaroen, D., Intharawichian, N., Vannarart, O., Anantawong, P., Kunta, K., Wisetsopa, P., Tipvong, T., Janjirawuttikul, N., Masthawee, F., Amornpatanawat, S., Kirtsaeng, S. (2015). Influences of land use and climate changes on hydrologic system in the northeastern river basin of Thailand. Journal of Water and Climate Change, 6(2), 325-340.
Photo by Mekong River Commission