การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตของประเทศไทย

Tuesday, 01 January 2019 Read 3049 times Written by 

syn4

 

ในอีกหลายปีข้างหน้า... จะร้อนยิ่งกว่านี้ไหม

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตของประเทศไทย

          หลักฐานข้อมูลตรวจวัดที่พื้นผิวในการศึกษาด้านภูมิอากาศวิทยาหลายต่อหลายครั้ง ให้ผลสอดคล้องกันว่าในปัจจุบันภูมิอากาศในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากจริง ๆ และยังร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ ภูมิอากาศของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต

          การศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ข้อมูลจากเครื่องมือที่เรียกว่า แบบจำลองภูมิอากาศโลกเพื่อคาดการณ์สถานการณ์ด้านภูมิอากาศในระดับโลกและภูมิภาคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

          การจำลองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ต่อมาใน ค.ศ.1995 คณะทำงานด้านแบบจำลองร่วมของหน่วยงานวิจัยภูมิอากาศโลก ได้ก่อตั้งโครงการการเปรียบเทียบระหว่างแบบจำลองร่วม (Couple Model Intercomparison Project; CMIP) และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในระยะที่ 5 หรือ CMIP5 โดยมีภาพการณ์จำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต (ช่วง ค.ศ.2006 – 2300) เรียกว่า “Representative Concentration Pathways; RCPs” หรือวิถีความเข้มข้นตัวอย่าง ทั้งนี้ ยังได้มีการพัฒนาเพิ่มความละเอียดของภาพจำลองภูมิอากาศและมหาสมุทรทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ทำให้สามารถจำลองรูปแบบอุณหภูมิเฉลี่ยบริเวณพื้นผิวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมถึงการจำลองปริมาณน้ำฝนที่ให้ผลใกล้เคียงกับค่าที่ตรวจวัดได้อีกด้วย

          การจัดการข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับภูมิภาครวมถึงประเทศไทย จำเป็นต้องใช้วิธีการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลก เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านแนวราบที่ละเอียดขึ้น โดยแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาค ประกอบด้วยวิธีการย่อส่วนแบบพลวัตและแบบสถิติ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยไทยได้วิจัยด้านการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกอย่างต่อเนื่อง และได้ขยายกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการ SEACLID/CORDEX Southeast Asia Project

          นักวิจัยได้ประมาณการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต โดยการย่อส่วนด้วยข่ายงานระบบประสาทเทียมซึ่งเป็นวิธีการทางสถิติ จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก CMIP5 ได้แก่ GFDL-ESM2M MPI-ESM-LR และ HadGEM2-ES ประกอบด้วยภาพการณ์จำลอง 3 รูปแบบ ได้แก่ RCP4.5 RCP6.0 และ RCP8.5 (ค่าที่กำหนดต่อท้าย RCPs แสดงถึงเป้าหมายโดยประมาณใน ค.ศ.2100 ของพลังงานความร้อนจากการแผ่รังสี) นักวิจัยพบว่าในช่วง ค.ศ.2006 2100 ค่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายวัน อุณหภูมิสูงสุด - ต่ำสุด และปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกแบบจำลองและภาพการณ์จำลอง

          การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 21 จากภาพการณ์จำลอง RCP8.5 ซึ่งมีสมมติฐานความเข้มข้นก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่สูงกว่าภาพจำลองอื่น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยจากการตรวจวัดในช่วงค.ศ.1951 – 2011 พบว่า มีค่าสูงขึ้นประมาณ 1.43 ͦ C 3.68 ͦ C และ 4.77 ͦ C ตามลำดับ สอดคล้องกับผลใน ค.ศ.2100 ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากการตรวจวัดประมาณ 1.43 ͦ C 3.68 ͦ C และ 4.77 ͦ C ตามลำดับ

          ไม่เพียงเท่านั้น ผลการย่อส่วนจากทุกแบบจำลองยังพบด้วยว่า ทั่วประเทศไทยในอนาคตจะมีแนวโน้มจำนวนวันที่อากาศร้อน (อุณหภูมิระหว่าง 35 – 40 ͦ C) เพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็จะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับรายงานของ IPCC ที่ว่า ปริมาณหยาดน้ำฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามค่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นของผิวโลกนั่นเอง จากหลักฐานที่สอดคล้องกันนี้ ทำให้มั่นใจในระดับปานกลางว่าภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว

          จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกรวมถึงในประเทศไทยเราในอนาคต มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงและร้อนขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพการณ์ที่ก๊าซเรือนกระจกมีความเข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตดังกล่าวนี้ยังมีความสำคัญมากต่อการศึกษาผลกระทบ การปรับตัว และความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เรามีองค์ความรู้สำหรับวางแผนรับมือและจัดการกับสาเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นอีกในอนาคต

อ้างอิง : จิรสรณ์ สันติสิริสมบูรณ์, จารุทัศน์ สันติสิริสมบูรณ์, วรัญญู วงษ์เสรี, กัมพล พรหมจิระประวัติ และประหยัด เลวัน, 2559: การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตของประเทศไทย. ใน: รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2: องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารปัจจุบันด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย. คณะทำงานกลุ่มที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [อำนาจ ชิดไธสง, ปริเวท วรรณโกวิท, มัทนพรรณ จิ๋วเจียม, อัศมน ลิ่มสกุล, ศุภกร ชินวรรโณ และชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (บรรณาธิการ)]

Photo by Mountain Forecast

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank