ข้อมูลตรวจวัดหลักฐานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทย

Tuesday, 01 January 2019 Read 980 times Written by 

syn2

 

ข้อมูลตรวจวัดที่พื้นผิวเป็นหลักฐานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทย

          ปัจจุบันโลกร้อนเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น จนใคร ๆ ทั่วโลก รวมทั้งคนไทยทุกภาคต้องพูดถึง (บ่น!) กันแทบไม่เว้นวัน ต้นเหตุสำคัญของปัญหานี้คือ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ “Climate Change” นั่นเอง สิบกว่าปีที่ผ่านมา นักวิจัยด้านภูมิอากาศวิทยาได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรภูมิอากาศในประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกับศึกษาความแปรปรวนจากปรากฏการณ์ของระบบภูมิอากาศโลกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเพราะโลกร้อนเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ

          รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 ให้ความสำคัญแก่ข้อมูลตรวจวัดอุณหภูมิอากาศที่พื้นผิวจากสถานีของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทาน ควบคู่กับการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลภูมิอากาศระดับโลกที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและลักษณะเอกพันธ์ของข้อมูลด้วยเทคนิคทางสถิติ ทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ชัดเจนในประเทศไทยที่เป็นปัจจุบัน ผลการศึกษาล้วนมีสถิติสอดคล้องกันว่า ประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ!” ข้อมูลอุณหภูมิอากาศใกล้พื้นผิวของสถานีตรวจวัด 65 แห่งทั่วประเทศชี้ว่า ในรอบ 40 ปี (ค.ศ. 1970 - 2009) อุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยรายปีของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.96 0.92 และ 1.04 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ภาคตะวันออกมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุด รองลงมา ได้แก่ ภาคกลางและภาคใต้

          ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยยังพบว่า จำนวนวันที่อากาศร้อนจัดในเวลากลางคืนและกลางวันเพิ่มขึ้น 3.6 และ 3.4 วันต่อทศวรรษตามลำดับ ในขณะที่จำนวนวันอากาศเย็นจัดในเวลากลางคืนและกลางวันกลับลดลง 3.0 และ 2.0 วันต่อทศวรรษตามลำดับ โดยมีแนวโน้มว่าเปลี่ยนแปลงเหมือน ๆ กันทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่พบหลักฐานการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นด้วย

          ถึงแม้อุณหภูมิจะร้อนขึ้นเพียงไม่กี่องศา แต่เมื่อประกอบกับความผันแปรของภูมิอากาศในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ระบบมรสุมและปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (El Niño-Southern Oscillation; ENSO) ยังส่งผลให้มีพายุฝนน้อยลง ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าในประเทศไทยก็ไม่สม่ำเสมอ แต่ทว่า ความรุนแรงกลับสูงขึ้น อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ น้ำท่วมกรุงปี 54 ซึ่งมีปริมาณฝนมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมาในรอบ 60 ปี คราวนี้มาพิจารณาเรื่องความแห้งแล้งกันบ้าง สถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า มีหมู่บ้านประสบภัยแล้งรุนแรงเพิ่มจำนวนขึ้นในรอบ 24 ปี ข้อมูลความแปรปรวนเหล่านี้เองที่ช่วยเพิ่มเติมหลักฐานว่าภูมิอากาศประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างมาก

          อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้นดังกล่าวนี้ มีสาเหตุมาจากการที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น และอาจรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ระดับท้องถิ่นซึ่งไม่เกี่ยวกับภูมิอากาศด้วย เช่น โดมความร้อนของเมือง (Urban Heat Island Effect) ซึ่งเกิดจากการสะสมความร้อนจากการใช้พลังงานฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้าจากการสร้างอาคารบ้านเรือนกันมากขึ้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป ดังนั้น โลกร้อนจึงยังคงเป็นปัญหาที่ละเลยไม่ได้ การศึกษาวิจัยเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอดีตถึงปัจจุบันทั่วประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนไทยควรมีความรู้ความเข้าใจสาเหตุและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วน เพื่อให้ปรับตัวทันรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพพร้อม ๆ กับคนทั่วโลก

อ้างอิง: อัศมน ลิ่มสกุล, 2559: หลักฐานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยจากข้อมูลตรวจวัดที่พื้นผิว. ใน: รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2: องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารปัจจุบันด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย. คณะทำงานกลุ่มที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [อำนาจ ชิดไธสง, ปริเวท วรรณโกวิท, มัทนพรรณ จิ๋วเจียม, อัศมน ลิ่มสกุล, ศุภกร ชินวรรโณ และชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (บรรณาธิการ)]

Photo by NASA

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank