จากรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2
“เรายืนยันหนักแน่นต่อคำมั่นที่ให้ไว้ภายใต้เจตจำนงของประเทศในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายใน พ.ศ.2573”
ข้อความนี้มาจากถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 7 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2558
ประเทศไทยยื่นข้อเสนอ “การมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ภายหลัง พ.ศ. 2563 ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change; UNFCCC) ใน 2 วันต่อมา
แม้ก่อนหน้านี้ ไทยเราจะไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังเช่นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในฐานะรัฐภาคีจึงมีส่วนร่วมดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) ตามปฏิญญาที่ได้ให้ไว้
สถานการณ์เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ผ่านรายงาน
“รายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Reports; BUR)” ที่ไทยจัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 2 ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด เพื่อนำเสนอข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก (ปี 2543 -2556) การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และความต้องการสนับสนุนการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ
สรุปได้ว่า ประเทศของเรานั้นมีคนเกิดน้อยลงและมีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ “ชุมชนเมืองขยายตัว” สิ่งที่ตามมามากขึ้น ก็คือ การผลิตและใช้พลังงาน การเดินทาง และปริมาณขยะมูลฝอย มากขึ้น ขณะที่ ภาครัฐและเอกชนก็พยายามส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ดังนั้น “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ GHGs ก็จะมากขึ้น” และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้วย
เมื่อตระหนักถึงผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว “รัฐบาลไทยจึงกำหนดให้ปัญหานี้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ” เมื่อปี 2550 รวมถึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อลดการปล่อย GHGs และการปรับตัว
สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2551-2565) ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคง เพื่อเตรียมรับผลจากการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติต่างๆ เป้าหมายหลักประการหนึ่งคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ
การปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกของไทยไปถึงไหนแล้ว?
จากบัญชีก๊าซเรือนกระจก “ประเทศไทยปล่อย GHGs รวมจากภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น” (รวมการดูดกลับจากภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้แล้ว) จาก 226.09 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) ในปี 2543 เป็น 318.66 MtCO2eq ในปี 2556
โดยภาคพลังงานมีการปล่อยมากที่สุดถึง 161 MtCO2eq ในปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็น 236.94 MtCO2eq ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.16
ขณะที่ ภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้เอง (LULUCF) ที่สามารถดูดกลับคาร์บอนได้ ก็ปล่อยสุทธิเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.63 จาก 214.09 MtCO2eq ในปี2543 เป็น 232.56 MtCO2eq ในปี 2556
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของการดำเนินการ NAMAs โดยการสนับสนุนภายในประเทศ (Domestically supported mitigation actions) เมื่อปี 2559 ทำให้ “ไทยประสบผลสำเร็จในการลดการปล่อย GHGs ลงได้” ร้อยละ 7 หรือ 24 MtCO2eq เมื่อเทียบกับกรณีปกติภายใน พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการลดการปล่อย GHGs ลงร้อยละ 20 หรือ 74 MtCO2eq ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้นั้น จำเป็นต้องได้รับทุนสนับสนุนและความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพจากประเทศพัฒนาแล้ว (Internationally supported mitigation actions)
ส่วน NDC ของไทยที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2564 มีเป้าหมายลดการปล่อย GHGs ไม่น้อยกว่า 115.6 MtCO2eq ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยภาคพลังงาน ขนส่ง การจัดการของเสีย และกระบวนการทางอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และการใช้ประโยชน์จากของเสีย
ทั้งนี้ ผลจากการประเมิน พบว่า ประเทศไทยยังต้องการการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซ GHGs ในการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการปรับตัวของภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาคเกษตร การจัดการน้ำ และการพัฒนาแบบจำลอง เช่น การพยากรณ์อากาศ เพื่อให้การคาดการณ์ภูมิอากาศของไทยถูกต้องมากขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ของการปล่อยและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และมีข้อมูลรายงานความก้าวหน้าการลดก๊าซเรือนกระจกออกสู่สายตาประชาคมโลก
อ้างอิง: Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning. (2017). Second Biennial Update Report of Thailand. p. 1-108.
Photo by Thaipbs