ครึ่งทางของการเจรจาโลกร้อนฉบับใหม่
ผู้เขียน : ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์......ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Think Tank
การประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ครั้งที่ 19 (COP 19) และการประชุมประเทศภาคีพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 9 ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน หลังมีการประชุมเจรจายืดเยื้อมากว่า 2 สัปดาห์ การประชุม COP ครั้งนี้ นับเป็นครึ่งทางของการเจรจาจัดทำความตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ ภายหลังจากที่ได้มีมติจากการประชุม COP 17 เมื่อปี 2011 ที่เมืองเดอร์บัน กำหนดให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงฉบับใหม่ให้เสร็จภายในปี 2015 (แต่จะมีผลบังคับใช้หลังปี 2020) จนถึงปีนี้การเจรจาผ่านมาได้ 2 ปี ยังคงเหลือเวลาเจรจาอีก 2 ปี
สิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น "ผลสำเร็จ" มากที่สุดจากการประชุมครั้งนี้ คือ การจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Loss and Damage) กลไกใหม่ที่จัดตั้งขึ้น มีภารกิจให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในด้านการสนับสนุนทางด้านเทคนิค การอำนวยความสะดวก และปรับปรุงการประสานงานของอนุสัญญาและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนงบประมาณที่เพียงพอเทคโนโลยี และการเพิ่มศักยภาพ เพื่อจัดการความเสียหายและเยียวยาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาไม่มีข้อสัญญาในเรื่องงบประมาณเพิ่มเติม
ในส่วนของการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ (Durban Platform) การเจรจาแยกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มเจรจาเรื่องโครงสร้างและเนื้อหาความตกลง และกลุ่มเจรจาเรื่องการเพิ่มระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ประเด็นการเจรจาที่วอร์ซอ มุ่งเน้นว่าทำอย่างไรการเจรจาจะก้าวหน้าใน 2 ปีข้างหน้า
ทางกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องการสลายความแตกต่างเรื่องพันธกรณีการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยอ้างว่า มติการประชุมที่เดอร์บันได้ทำลายกำแพงนี้ไปแล้ว แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายืนยันที่จะรักษา "กำแพง" ที่กั้นระหว่างพันธกรณีประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งต้องมีพันธกรณีมากกว่า) กับพันธกรณีของประเทศกำลังพัฒนา (ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยี) โดยอ้างว่ามติการประชุมที่เดอร์บันอยู่ภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดังนั้น กำแพงที่สร้างความแตกต่างยังคงมีอยู่ เนื่องจากภายใต้อนุสัญญามีหลักการเรื่อง "ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง"
ประเด็นเจรจาในเรื่องนี้ร้อนแรงจนเกือบทำให้การเจรจาล่ม สุดท้ายในมติการประชุมได้ใช้คำกลางๆ คือ ใช้คำว่า "การสนับสนุน" (Contribution) แทนที่จะเป็น "การผูกพัน" (Commitment) โดยในมติระบุว่าเชิญชวนให้ทุกประเทศได้นำเสนอ "เป้าหมายการสนับสนุนระดับประเทศ" โดยให้นำเสนอภายในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2015
จนถึงขณะนี้ เริ่มเห็นแนวโน้มความชัดเจนว่า การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นระบบแบบผสม (Hybrid) คือ ให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยเป็นไปตามกฎกติกาสากลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แล้วให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ประเมินว่าเป้าหมายที่เสนอมาเพียงพอ และมีความเป็นธรรมหรือไม่
หัวข้อการเจรจาเรื่องการเงิน (Climate Finance) เป็นประเด็นเข้มข้นอีกเรื่องหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ ตามเป้าหมายที่เคยตกลงกันไว้นั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วมีข้อสัญญาจะสนับสนุนเงิน 3 หมื่นนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2010 ถึง 2012 และเพิ่มเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2020 ทางกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ให้ไว้ และมีข้อเรียกร้องให้ตั้งเป้าหมายในช่วงระหว่างทาง คือ มีการสนับสนุนเงิน 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2016 แต่ถูกปฏิเสธจากประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วยอมรับจะดำเนินการเป็นเรื่องการจัดทำรายงานเสนอทุก 2 ปี ว่ามียุทธศาสตร์ในการเพิ่มระดับปริมาณเงินสนับสนุนอย่างไร
ผลสรุปโดยรวมของการประชุมครั้งนี้เรียกได้ว่ามีความก้าวหน้าในด้าน "ขั้นตอน" (Procedure)เป็นการสร้างความชัดเจนว่าการเจรจาต่อไปจะมีขั้นตอนและกระบวนการที่จะเดินหน้าต่อกันอย่างไร การเจรจาครั้งต่อไปในปี 2014 จะเริ่มอีกครั้งในเดือนมีนาคม ณ กรุงบอนน์ สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งต้องติดตามต่อไป