บูรณาการร่วมกัน...แก้วิกฤติ

Tuesday, 19 March 2013 Read 1318 times Written by 

19 03 2013 5

กระทรวงทรัพยากรฯลงพื้นที่ช่วยภัยแล้ง บูรณาการร่วมกัน...แก้วิกฤติครั้งนี้

ในช่วงนี้พบว่าหลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งมาเยือน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ๆ รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองลดน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า ในปีนี้ภาคอีสานจะต้องเผชิญกับภัยแล้งสาหัสสากรรจ์เหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่ทุกพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดต่างประสบภัยแล้ง ในบางพื้นที่ปริมาณน้ำดิบที่จะนำมาผลิตน้ำประปาลดลงอย่างน่าใจหาย จนเป็นเหตุให้ประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยภูมิ ต้องประกาศให้จังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรไม่เพียงพอทั้งจังหวัดแล้วทั้ง 16 อำเภอ มีพื้นที่ประสบภัยรวม 111 ตำบล 1,243 หมู่บ้าน 171,217 ครอบครัว ประชากรเดือดร้อนกว่า 391,435 คน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนาข้าวเสียหายแล้วกว่า 113,279 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้มีการประกาศเตือนให้ประชาชนในทุกพื้นที่ควรงด หรือเลี่ยงการปลูกพืชใช้น้ำมากโดยเด็ดขาด เพราะจะไปกระทบต่อแหล่งเก็บกักน้ำที่มีทั้งหมดที่ต้องมีสำรองไว้เพื่อใช้ด้านการประปา และอุปโภคบริโภค เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งปีนี้ที่มาเร็วกว่าทุกปี

ล่าสุด นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับคำสั่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้นำคณะผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพย์น้ำบาดาล และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและเร่ง จัดชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ช่วยชาวบ้านในทุกพื้นที่ห้ามขาดน้ำอุปโภคบริโภคโดยเด็ดขาดใน 90 วัน พร้อมกับติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพื่อที่รัฐบาลจะใช้เป็นนโยบายกระจายเงินกู้ลงพื้นที่ ในการนำมาช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเกิดน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากทุกปี ใน 4 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย อ.หนองบัวแดง, หนองบัวระเหว, จัตุรัส และที่ อ.เนินสง่า โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งประชาชนต้องมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง ให้หน่วยงานแก้ปัญหาภัยแล้งให้ตรงเป้า โดยการแก้ปัญหาระยะสั้น ให้จัดหาภาชนะใส่น้ำ รถบรรทุกน้ำ แหล่งน้ำดิบ เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการช่วยเหลือประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว ได้เตรียมงบประมาณ 150 ล้านบาท ให้จังหวัดละ 2 ล้านบาท เพื่อบูรณาการขุดลอกคูคลองเพื่อให้เส้นทางน้ำแต่ละพื้นที่ได้มีการเชื่อมโยงกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าหาแหล่งน้ำ

โดย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าในเบื้องต้นได้นำเครื่องจักรหนักลุยลงพื้นที่ทำการขุดเจาะบ่อบาดาลพร้อมมาจัดพื้นที่ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อบริการประชาชนและมอบพันธุ์กล้าไม้ให้กับแก่ราษฎรอีกด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังตรวจราชการและมอบผ้าห่ม ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายติดตามช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ที่เกษตรกรประชาชนคนอีสานกำลังประสบอยู่ โดยในปี 2556 รัฐบาลนั้นได้ตั้งงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แก้ไขปัญหาการพัฒนาลุ่มน้ำในภาคอีสาน 20 จังหวัด คาดว่าจะแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วมได้ทั้งระบบ นอกจากนั้น การแก้ไขภัยแล้งในพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำ ได้มอบให้กรมทรัพยากรน้ำ วางแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อการเกษตรและการผลิตน้ำดื่ม โดยเน้นย้ำให้ทุกตำบลและทุกหมู่บ้านจะต้องเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมา เพื่อใช้แก้ปัญหาในพื้นที่นอกระบบชลประทาน ซึ่งการสำรวจพบว่า ประเทศไทย มีแหล่งน้ำใต้ดินมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ละปีมีการนำขึ้นมาใช้น้อยมาก แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จะต้องมีการขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อพื้นที่นาข้าวและพืชไร่ ซึ่งปีนี้จะขุดเจาะ 7,000 บ่อ เน้นตามโรงเรียนและพื้นที่การเกษตร โดยคาดว่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และช่วยเหลือการเกษตรได้ในระยะยาว

ด้าน นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้งในระยะเผชิญเหตุด้วยศักยภาพของอุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล ชุดซ่อมระบบประปา-เครื่องสูบ เครื่องสูบน้ำบาดาลสำรอง และยังได้เตรียมบ่อน้ำบาดาลที่สามารถใช้บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จำนวน 116,930 บ่อ ระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 68,117 ระบบ จุดจ่ายน้ำถาวร จำนวน 100 แห่ง ระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 2,090 ระบบ ซึ่งพร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย

นายสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาภัยแล้ง เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกหน่วยงานต้องมีการทำงานร่วมกัน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนหลายหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือประชาชน และให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการอยู่แล้วให้สามารถบังเกิดผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายมนตรี ชาลีเคลือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิกล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง และเกิดน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากทุกปีใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หนองบัวแดง, หนองบัวระเหว, จัตุรัส และที่ อ.เนินสง่า ราษฎรขาดน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่จำนวนมาก ขณะทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิกำลังดำเนินการขอให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกมาขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านและเกษตรกรแล้ว โดยเฉพาะโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ในระยะยาว ที่ จ.ชัยภูมิ คือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ที่กรมชลประทาน คาดว่า จะต้องใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาติดเงื่อนไขก่อสร้างไม่ได้เพราะยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน และเกิดการต่อต้านจากกลุ่มมวลชนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก และอยู่ในพื้นที่ที่ทางประเทศไทยได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุ่มน้ำนานาชาติไปแล้ว ซึ่งยังมีบางส่วนได้รับผลกระทบเกิดปัญหาทับซ้อนของพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนไปกระทบต่อผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และสัตว์ป่าจำนวนมากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) จะต้องถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนเป็นเนื้อที่สูงกว่า 2,100 ไร่ จึงขอให้รัฐบาลช่วยดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ให้เสร็จโดยเร็ว.

สมศักดิ์ ชุ่มหมื่นไวย์
Credit: http://www.dailynews.co.th

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank