ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ เท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลายส่วนของโลกต้องเจอกับภัยธรรมชาติที่รุนแรง และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
ปี 2013 เป็นปีที่มีอากาศอบอุ่นที่สุดเป็นปีที่ 7 ตั้งแต่ที่มีการบันทึกมา ทำให้ได้เห็นไซโคลนที่รุนแรงที่สุดลูกหนึ่งที่เกิดขึ้น เห็นปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่ง และสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วในรอบหลายสิบปี
นับตั้งแต่ต้นปี 2013 ออสเตรเลียต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดตลอดทั้งเดือนมกราคม หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 48 องศาเซลเซียส สถิติสูงสุดที่ 49.6 องศาเซลเซียส ส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน มีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 140 ปี
ขณะที่หลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะตอนกลางของทวีป อย่างออสเตรีย ฮังการี เช็ก โปแลนด์ ต้องเจอกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด และส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 100 ปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ รวมมูลค่ากว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่อินเดียเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศ มีคนสูญหายไปพร้อมกับภัยพิบัติในครั้งนี้กว่า 5,700 คน และถือว่าเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2004
อุณหภูมิที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก ยังครอบคลุมไปถึงอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลอดปีที่แล้ว เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเพียง 13 ลูก ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี และพายุที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงในระดับที่น้อยที่สุด เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1982 ในขณะที่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก กลับเผชิญกับพายุขนาดใหญ่ถึง 30 ลูก และในบรรดาพายุทั้งหมด มี 13 ลูก ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ที่พัดถล่มภาคกลางของฟิลิปปินส์ จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน
Credit : http://www.krobkruakao.com