ผลประโยชน์ร่วมด้านอื่นๆ จากการนำขยะกลับมา

Wednesday, 02 January 2019 Read 1942 times Written by 

syn48

 

ผลประโยชน์ร่วมด้านอื่นๆ จากการนำขยะกลับมาใช้ใหม่และการลดการใช้พลังงาน

โลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องใหญ่มักไกลตัวคนส่วนมากที่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนตัวเล็ก ๆ ในสังคม จะทำอะไรก็ไม่น่าส่งผลถึงเรื่องใหญ่ ๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำอะไรเกินปกติ แค่ดำเนินชีวิตไปเรื่อย ๆ กินอยู่ตามกำลัง ถึงจะมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกบ้างก็ไม่น่าจะมากมายอะไร  ทว่า ผลงานวิจัยเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประชากรในเมืองใหญ่ชี้ชัดว่า แต่ละคนมีส่วนทำให้โลกร้อนมากกว่าที่คิด คนในกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 6.1 ตันต่อปี คนเซี่ยงไฮ้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 9.7 ตันต่อปี

เห็นตัวเลขแล้วก็ต้องพากันสะดุ้ง อะไรจะมากมายขนาดนั้น ตัวเลขเหลือเชื่อนี้มาจากไหน

นักวิจัยศึกษาลักษณะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์แล้วพบว่า หากยิ่งใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โลกก็ยิ่งร้อน อัตราการผลิตขยะหรือของเสียต่อคน และรายได้ต่อหัวประชากรก็สัมพันธ์กับการปล่อยก๊าซ กล่าวคือ เมืองที่ร่ำรวยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า เนื่องจากใช้พลังงานมาก แต่ใช้อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการลดปริมาณขยะ

การใช้พลังงานให้คุ้มค่าไม่ใช่เรื่องยากเกินทำ อันที่จริงคนทั่วไปก็ทำอยู่แล้วเรื่องหนึ่ง คือการใช้บริการขนส่งมวลชน เมื่อคนมาก ๆ เดินทางไปด้วยกัน ย่อมลดการใช้พลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังดีต่อสุขภาพ เพราะเมื่อใช้รถยนต์น้อยลง ก็จะมีควันจากท่อไอเสียน้อยลง คนย่อมหายใจได้สบาย ลดโอกาสเป็นโรคระบบทางเดินหายใจได้มาก

ส่วนการลดปริมาณขยะนั้นเป็นเรื่องควรทำ ถ้าใช้วัสดุน้อย บริโภคเท่าที่จำเป็น หรือใช้สินค้าที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์เกินความจำเป็น ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง   แต่เมื่อมีขยะแล้วก็ควรแยกว่าเป็นขยะที่ยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือเป็นขยะย่อยสลายได้ แล้วแยกทิ้งให้ถูกที่   สำหรับภาครัฐก็ต้องจัดการกำจัดขยะให้ถูกวิธี โดยไม่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เพราะเป็นที่รู้กันแล้วจากผลงานวิจัยว่า การฝังกลบขยะส่งผลร้ายต่อโลก เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระหว่างกระบวนการเก็บขน การวางกอง และการย่อยสลายขยะ  แม้กระทั่งการฝังกลบก็ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนด้วย  แม้ว่าจะเอาก๊าซนี้มาใช้ได้ และเอาขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมักได้ก็ตาม

นักวิจัยศึกษาการกำจัดและนำขยะมาใช้ใหม่ที่ตำบลพังโคน จ. สกลนคร เมื่อ ค.ศ. 2013  ตำบลนี้มีโครงการธนาคารขยะและโครงการนำขยะอินทรีย์มาใช้ใหม่  ทุกวันพฤหัสบดีจะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก กระดาษ แก้ว อลูมิเนียม และโลหะ มาเข้าธนาคารขยะ  เทศบาลรับซื้อขยะจากสมาชิกไปขายให้บริษัทรีไซเคิลได้ราคามากขึ้น  ส่วนโครงการนำขยะอินทรีย์มาใช้ใหม่ คือการติดตั้งถังหมักปุ๋ยและระบบผลิตก๊าซชีวภาพระดับครัวเรือนให้ในราคาถูก เศษเหลือใช้จากกระบวนการทำปุ๋ยหมักและผลิตก๊าซชีวภาพ จะนำไปใช้ในแปลงนาและการทำการเกษตรของเทศบาลต่อไป ชุมชนร่วมมือกันเต็มที่ เข้าใจประโยชน์ของการรีไซเคิลขยะเป็นอย่างดี 

โครงการธนาคารขยะลดปริมาณขยะที่จะส่งไปฝังกลบได้มากถึง 172.20 กก./สมาชิก/ปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโครงการรีไซเคิลขยะอื่น ๆ ในประเทศไทยถึงร้อยละ 926 คาดว่าเนื่องมาจากการเก็บและขนด้วยวิธีที่สะดวก (curbside pickup) และการให้ราคารับซื้อที่เหมาะสม  โดยคำนวณค่า Carbon intensity (ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าที่เกิดจากขยะ 1 ตัน) ได้เท่ากับ 0.47 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต่ำกว่าเทศบาลอื่น ๆ (ซึ่งหมายถึง การจัดการขยะด้วยวิธีดังกล่าว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง) นอกจากนี้ โครงการนำขยะอินทรีย์มาใช้ใหม่ก็ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 16.8 และลดค่าใช้จ่ายในการฝังกลบลงเหลือ 4.75 USD ต่อตัน จากเดิมที่มีต้นทุน 7.41 USD และหากมีการนำขยะมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 30 จากปริมาณขยะทั้งหมด ผลประโยชน์ทางการเงินปีละ 6,777.13 USD และลดค่าใช้จ่ายในการฝังกลบลงเหลือ 4.75 USD ต่อตัน

การลดปริมาณขยะด้วยกิจกรรมในระดับท้องถิ่นนี้ขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ ประชาชนในเขตเทศบาลที่ทำเกษตรกรรมจะได้ประโยชน์จากโครงการนำขยะอินทรีย์มาใช้ใหม่ เพราะขยะส่วนใหญ่ย่อยสลายได้ ส่วนชุมชนเมืองควรทำโครงการธนาคารขยะ เนื่องจากคนสมัยใหม่ทำขยะที่รีไซเคิลได้กันมาก อาทิ ขวด กล่อง กระดาษ จาน ชาม ช้อนพลาสติก ฯลฯ และมีผลประโยชน์ร่วมด้านอื่น ๆ ที่จะได้รับตามมาอีกมาก ดังทีเรียกกันว่า ขยะคือทองคำ

เมื่อรู้แล้วว่า แม้แต่คนตัวเล็ก ๆ ก็ทำเรื่องที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงแก่ส่วนรวมโดยตรงได้ อย่างโลกร้อน เราจึงควรร่วมด้วยช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐกำหนดนโยบายสาธารณะที่ทุกคนยอมรับนำไปปฏิบัติได้ อย่างการใช้บริการขนส่งมวลชน หรือ ใช้เครื่องยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ  และช่วยกันคนละไม้ละมือ เผยแพร่ความรู้เรื่องโลกร้อน ลงมือลด ละ เลิกการบริโภคเกินควร  ที่สำคัญต้องจัดการขยะอย่างถูกวิธี เราจะได้มีสุขภาพดีเพราะอยู่ในโลกที่สุขภาพดีไปได้อีกนาน ๆ

อ้างอิง:

Challcharoenwattana, A., & Pharino, C. (2015). Co-Benefits of Household Waste Recycling for Local Community's Sustainable Waste Management in Thailand. Sustainability, 7(6), 7417- 7437.

Lee T, van de Meene S. (2013). Comparative studies of urban climate co-benefits in Asian cities: an analysis of relationships between CO2 emissions and environmental indicators. Journal of Cleaner Production. 58:15-24. Photo by The Guardian 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank