เจาะการเมืองเรื่องโลกร้อน รักษาโลกหรือเพียงกำลังรักษากติกาโลก?

Tuesday, 02 October 2012 Read 1276 times Written by 

02 10 2012 4

แม้โลกของเราจะมีกติกาควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เอาเข้าจริงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้น ที่สำคัญ พิธีสารเกียวโตซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นกติกาฉบับเดียวที่มีอยู่กำลังจะหมดอายุลง แล้วชะตากรรมโลกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โครงการวิจัยนโยบายทางเลือกด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายใต้มิติความเป็นธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ร่วมกันจัดสัมมนา “ประเด็นร้อนในโลกร้อน 2012” ชี้ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนสำเร็จยาก ขณะที่โลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเผชิญหายนะ

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า รายงานของนักวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2007 ระบุว่า ถ้าต้องการให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เกินขีดอันตราย ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25 – 40 เปอร์เซ็นต์จากระดับที่เคยปล่อยในปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2020 โดยที่ประชุม COP 13 ที่บาหลี ได้ตั้งเป้าว่าให้มีการเจรจาให้ได้ข้อยุติในปี 2009 ว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องลดก๊าซเรือนกระจกเท่าไรถึงจะเพียงพอต่อการรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 การประชุม COP 15 ที่โคเปนเฮเกน ไม่เพียงแต่การเจรจาจะไม่ได้ข้อยุติ แต่กลับให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกโดยอิสระ โดยสหภาพยุโรปเสนอลดการปล่อยก๊าซ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์จากระดับที่เคยปล่อยในปี 1990 ส่วนสหรัฐอเมริกาเสนอลดการปล่อยก๊าซลง 17 เปอร์เซ็นต์จากระดับที่เคยปล่อยในปี 2005 ส่วนแคนาดาเสนอลด 17 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นเสนอลด 25 เปอร์เซ็นต์ และในการประชุม COP 16 ที่แคนคูน ที่ประชุมก็มีมติรับรองอย่างเป็นทางการ ยอมรับแนวทางการลดก๊าซโดยให้แต่ละประเทศเสนอ

“ตอนนี้สิ่งที่เจรจากันอยู่ คือรักษากฎกติกาได้ แต่ไม่ได้รักษาโลก เพราะจากตัวเลขที่แต่ละประเทศเสนอ เมื่อนำมาวิเคราะห์ว่าจะลดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาได้หรือไม่ ปรากฏว่าไม่ได้ อย่างดีที่สุดคือควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นได้ไม่เกิน 3.5 องศา” บัณฑูรกล่าว

สำหรับการประชุม COP 17 ที่เดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผลการเจรจาระบุให้มีการดำเนินการตามพิธีสารเกียวโตในช่วงที่ 2 ต่อไป โดยยังไม่มีข้อยุติว่าเริ่มเมื่อปี 2013 แล้วไปจบสิ้นที่ 2017 หรือ 2020 นอกจากนี้ให้มีการตั้งชุดการเจรจาขึ้น สาระสำคัญคือเพื่อให้เกิดความตกลงที่มีผลทางกฎหมายกับทุกประเทศ โดยตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จในปี 2015 และให้มีผลบังคับใช้หลังปี 2020

บัณฑูรตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่กำหนดกรอบเวลาบังคับใช้ไว้หลังปี 2020 อธิบายได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นฝั่งยุโรปหรืออเมริกากำลังเจอวิกฤตทางการเงิน ฉะนั้นถ้าจะให้มีข้อตกลงในการลดก๊าซแล้วยังต้องสนับสนุนทางการเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยก็คงลำบาก เลยขอซื้อเวลาให้ผลทางกฎหมายเริ่มหลังปี 2020 ส่วนตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจกที่ให้แต่ละประเทศเสนอนั้น เดิมขีดเส้นตายไว้วันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นและรัสเซียไม่ยอมเสนอตัวเลขการลดก๊าซ แคนาดาขอถอนตัวจากพิธีสารเกียวโต สหรัฐอเมริกาไม่เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น มีเพียงสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่เสนอตัวเลขมาแล้ว

“สมาชิกพิธีสารเกียวโต 42 ประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 20 เปอร์เซ็นต์ นี่ก็เป็นเหตุผลที่แคนาดา รัสเซีย ญี่ปุ่นอ้างว่าพิธีสารเกียวโตไม่มีประสิทธิภาพแล้ว แต่ถ้ารวมสหรัฐอเมริกาก็จะเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ และถ้ารวมกลุ่มประเทศ BASIC (บราซิล แอฟริกา อินเดีย และจีน) ก็จะเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นโจทย์ในตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหากับความเป็นธรรมในการแก้ปัญหามีจุดลงตัวกัน” บัณฑูรกล่าว

ด้าน จักรชัย โฉมทองดี คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลว่า จากร่างรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)ฉบับล่าสุดที่กำลังจะตีพิมพ์ ระบุว่าถ้าไม่มีความตกลงใดๆ เกิดขึ้น โลกจะก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์อุณหภูมิร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียสในสิ้นศตวรรษนี้ หรืออีก 88 ปีข้างหน้า โดยโลกจะเป็นเหมือนหนองบึงขนาดใหญ่ ซึ่งรองรับประชากรได้ประมาณ 1 พันล้านคน แต่ปัจจุบันโลกมีประชากร 7 พันล้านคน

ขณะที่มุมมองในการแก้ไขปัญหา จักรชัยมองว่า แนวคิดในระดับสากลแบ่งเป็น 2 ชุดคิดสำคัญ คือฝ่ายหนึ่งยึดความเป็นธรรมในระดับสากลอย่างเอาเป็นเอาตาย คือต้องให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรทำอะไร เพราะต้องสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอันจะนำมาสู่การลดความยากจนในประเทศ จุดยืนของฝ่ายนี้จึงอ้างเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ แล้วไปกดดันประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนแนวคิดอีกฝ่ายมองว่า ในพิธีสารเกียวโตไม่ใช่มีแต่เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการใช้กลไกตลาด การซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เป็นปัญหาและบิดเบือนความเป็นธรรม ขณะเดียวกันการไปกดดันให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปลดก๊าซเรือนกระจกฝ่ายเดียวก็ยังไม่พอ แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“เวลาเราคุยกับรัฐบาล จุดเริ่มต้นก็เหมือนกันคือเราต้องช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาโลกร้อน ต้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้รับผิดชอบ แต่พอพูดถึงว่าบ้านเราต้องมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็จะมีฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นชุดคิดเดียวกับของรัฐบาลก็จะบอกว่าไม่จำเป็นต้องตั้ง เพราะจะไปลดความเสียดทานกับประเทศพัฒนาแล้ว และจะปิดโอกาสในหลายๆ ด้าน เราควรมีสิทธิในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การดำเนินการใดๆ จึงไม่ขยับ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่ยอมเพราะเขาบอกว่ากำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาก็ไม่ยอมทำอะไร แคนาดาเหมือนว่าลาออกไปแล้ว ตัวเลขที่ยุโรปเสนอ ก็ไม่มากพอ ประเทศกำลังพัฒนาที่พร้อมจะทำอะไรก็ไม่ขยับ เพราะถ้าขยับก็กลัวจะเสียท่าที เครือข่ายภาคประชาชนก็เลยติดหล่มอยู่ตรงนี้” จักรชัยกล่าว

นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าคืออะไร มีกลไกการทำงานอย่างไร จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้หรือไม่ เขาตั้งข้อสังเกตว่า คำว่าเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการพูดคุยกันอยู่นี้ เป็นเหมือนการทำให้ราคาของสินค้านั้นสะท้อนต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม แต่บางกรณีการคำนวณมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็อาจนำไปสู่การซื้อขายในกลไกตลาด “พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณไม่คิดที่จะขาย ก็จะไม่รู้หรอกว่ามันราคาเท่าไหร่” ซึ่งการซื้อขายนั้น ซื้อขายกันได้แม้กระทั่งหน้าที่หรือบริการที่ธรรมชาติมีให้กับโลกใบนี้ เช่นบริการที่ต้นไม้ดูดซับคาร์บอน

จักรชัยยกตัวอย่างกรณีของประเทศอินโดนีเซียว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์ด้านความร่วมมือรักษาป่าไม้มูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้เอาไปสำรวจดูว่าป่าไม้นี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ใช้กลไกอะไรในการซื้อขาย แล้วเมื่อตกลงซื้อขายกันได้แล้วจะวัดมูลค่าและตรวจสอบตลาดอย่างไร แทนที่เงินจะเอาไปดูแลรักษาป่า ส่งเสริมสิทธิชุมชน ส่งเสริมคนควรอยู่กับป่าอย่างไร ให้ความรู้เยาวชน เป็นเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาป่า เพื่อให้ป่าอยู่ได้

“กลายเป็นว่าเงินที่ลงไปไม่ได้เพื่อการรักษาป่า แต่กลายเป็นการทำให้ป่าเป็นตลาดแห่งใหม่ที่นำไปสู่การซื้อขาย โดยที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การอนุรักษ์จริงหรือเปล่า ซึ่งประชาชนก็มองว่าเงินสามหมื่นล้านมาแล้ว ไม่ควรปล่อยให้เสียโอกาส ควรจะเอาไว้ก่อน และคนทั่วไปก็จะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าจะมองมันเป็นเพียงตลาด แต่อีกมุมคิดหนึ่งก็มองว่า ถ้าคุณเริ่มโครงการนี้ไปแล้ว คุณกลับไม่ได้ แน่นอนว่าต้นไม้ สรรพสัตว์ จะถูกแปะป้ายราคา และนำไปสู่การเก็งกำไร” จักรชัยกล่าว

Credit: http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1945

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank