Bangkok Climate Change Conference 2012
ผู้เขียน: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 สิงหาคม 2555
ช่วงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึงวันที่ 5 กันยายน 2012 นี้ จะมีการประชุมเจรจาเกี่ยวกับการจัดทำระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหลังปี ค.ศ.2015 ขึ้นในประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุม UNESCAP กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของคณะทำงานเฉพาะกิจทั้ง 3 ชุด คือ คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยพันธกรณีช่วงที่สองภายใต้พิธีสารเกียวโต และคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการยกระดับการดำเนินงาน (Ad-hoc Working on the Durban Platform on Enhanced Action หรือ ADP)
คณะทำงาน ADP เพิ่งจัดตั้งขึ้นจากมติการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 17 (COP17) ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2011 เป้าหมายสำคัญของการเจรจาภายใต้ ADP คือ ความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ที่มีผลบังคับทางกฎหมายกับ “ทุกประเทศ” โดยผลลัพธ์การเจรจาอาจออกมาในรูปแบบเป็นพิธีสารฉบับใหม่ หรือเป็นเครื่องมือทางกฎหมาย หรืออาจเป็นผลลัพธ์ที่เห็นชอบร่วมกันที่มีผลใช้บังคับทางกฎหมาย มีการกำหนดให้ ADP ทำงานเสร็จโดยเร็วที่สุดแต่ไม่ช้าเกินกว่าปี 2015 เพื่อให้มีมติรับรองในการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 21 ในปี 2015 และนำไปสู่การใช้บังคับในปี 2020 เป้าหมายของผลลัพธ์การเจรจาภายใต้ ADP จึงเป็นเรื่องที่มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตโลก การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มากขึ้นภายใต้ข้อผูกพันทางกฎหมาย
ประธานร่วมของคณะทำงาน ADP ได้ส่งบันทึกเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2012 ระบุว่าการประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จะเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ 3 หัวข้อเรื่องสำคัญ ได้แก่ (หนึ่ง) วิสัยทัศน์ของคณะทำงาน ผลลัพธ์ที่คาดหวังและแนวทางที่ทำให้เกิดผลสำเร็จ และมุมมองของประเทศต่างๆ ต่อผลลัพธ์ของการเจรจาที่ตามมติ COP 17 ระบุว่ามีทางเลือกรูปแบบของกฎหมาย 3 แนวทาง (สอง) ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก แนวทางที่จะยกระดับความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก แนวทางเพิ่มความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างประเทศ (สาม) เรื่องหลักการต่างๆ ของอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อเป็นกรอบการทำงานของ ADP โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับผลของหลักการในอนุสัญญาฯ ที่มีต่อผลลัพธ์การทำงานของ ADP ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักการ “ความเป็นธรรม” และหลักการ “ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง” (CBDR) และการพิจารณาถึงขีดความสามารถที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี จากเอกสารที่ประเทศสมาชิกส่งไปยังเลขาธิการอนุสัญญา UNFCCC เพื่อแสดงความเห็น ท่าทีเกี่ยวกับประเด็นเจรจาภายใต้คณะทำงาน ADP สะท้อนถึงความแตกต่างทางแนวคิดระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ อย่างมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นการเพิ่มความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก
ประเทศจีนเน้นย้ำว่าประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก และปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วนในการสนับสนุนด้านการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยสอดคล้องกับหลักการและพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ประเทศจีนได้ระบุว่ากุญแจสำคัญในการยกระดับความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ เจตจำนงทางการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว และการยอมรับถึงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต (Historical Responsibility) ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ประเทศอินเดียมีท่าทีคล้ายกับประเทศจีน โดยเห็นว่าการเพิ่มระดับการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นควรเป็นการดำเนินงานของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยกรอบเวลาที่เป็นไปได้ในการพิจารณาการลดก๊าซสำหรับ “ทุกประเทศ” โดยอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้นควรเป็นหลังปี 2020 และการเพิ่มระดับการลดก๊าซควรสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ยึดถือหลักการเรื่องความเป็นธรรมและหลักการ CBDR
ทางสหภาพยุโรปมีท่าทีว่า ความตกลงฉบับใหม่ควรจะกำหนดพันธกรณีการลดก๊าซสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเศรษฐกิจสำคัญ (Major Economies) โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและระดับขีดความสามารถที่แตกต่างกัน แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทาง EU ได้เสนอแนวทางเพื่อเพิ่มความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดการปล่อยก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) การลดก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางอากาศภายใต้ ICAO และการขนส่งทางเรือภายใต้ IMO การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สนับสนุนกิจกรรมการลดก๊าซที่เกิดจากการทำลายป่าและป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา (REDD+) เป็นต้น
สำหรับสหรัฐอเมริกาได้เสนอแนวคิดว่า แนวทางการลดก๊าซต้องพิจารณาทั้งที่เป็นกิจกรรมภายใต้อนุสัญญา UNFCCC รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ที่อยู่นอกกรอบอนุสัญญาฯ ด้วย โดยต้องคำนึงถึงนโยบายการลดก๊าซที่มีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และได้เสนอทางเลือกที่เป็นไปได้หลายประการที่จะยกระดับความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การกระตุ้นในประเทศที่ยังไม่ได้เสนอเป้าหมายตัวเลขการลดก๊าซได้จัดทำและเสนอเป้าหมาย ฯลฯ จากท่าทีของสหรัฐฯ อาจมองได้ว่า สหรัฐไม่ต้องการให้มีข้อผูกมัดแบบเข้มงวดภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ต้องการให้มีทางเลือกในการลดก๊าซที่กำหนดได้เองด้วย
ความแตกต่างของแนวคิดและท่าทีระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และความแตกต่างระหว่างประเทศในกลุ่มเดียวกัน เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความยุ่งยากและซับซ้อนในการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฉบับใหม่ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการเพิ่มความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีความเห็น แนวคิดและท่าทีที่แตกต่างกันอีกมากเกี่ยวกับประเด็นเจรจาภายใต้ ADP โอกาสที่จะปิดการเจรจาไม่ได้ตามแผนในปี 2015 คล้ายกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี 2009 ที่กรุงโคเปนเฮเกนจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายวิตกกังวลอยู่ หากเกิดความล้มเหลวในการเจรจาซ้ำรอยเดิม เราอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง
ภาพ: http://www.iisd.ca/climate/ccwg17i/
Credit: http://www.measwatch.org