นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายบริเวณลุ่มน้ำคลองวังหีบ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า ขณะนี้บริษัทวิศวกรที่ปรึกษากำลังดำเนินการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 14 เมษายน 2556 จากนั้นถึงจะขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างต่อไป
อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำอยู่ในบริเวณต้นน้ำ กรมชลประทานได้เข้าทำการศึกษาสำรวจ และเก็บข้อมูลด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำข้อมูลด้านวิชาการมาผนวกกับความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังหีบมีความเป็นไปได้ในทางเทคนิค โดยที่ตั้งที่เหมาะสมจะอยู่หมู่ที่ 1 บ้านสระแก้ว และหมู่ที่ 5 บ้านคอกช้าง ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างนั้นมีความจุในระดับกักเก็บที่เหมาะสมและมีผลกระทบน้อยที่สุดคือ 20.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ 13,014 ไร่
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบนั้น กรมชลประทานได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว เช่น การสร้างถนนลาดยางรอบอ่าง เชื่อมต่อกับแนวถนนเดิมเพื่อให้การขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนสะดวกขึ้น การจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บทสรุปของการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังหีบดังกล่าว ยังคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของราษฎรในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ
ทางด้าน นายประสิทธิ์ ชรินานนท์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 15 กรมชล ประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบนั้น สืบเนื่องมาจากราษฎรในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประสบความเดือดร้อนจากการที่พื้นที่มีฝนตกหนักทุกปี แต่กลับไม่มีที่เก็บน้ำ ทำให้ขาดแคลนน้ำดิบในฤดูแล้ง และเกิดปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน เป็นเวลานาน จึงได้รวมตัวกันกราบบังคมทูลขอพระราชทานแหล่งกักเก็บน้ำบริเวณลุ่มน้ำคลองวังหีบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายบริเวณลุ่มน้ำคลองวังหีบ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของราษฎรในพื้นที่ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ปัจจุบันกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังหีบด้วยการสร้างฝายขนาดเล็ก ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ รวมทั้งสิ้น 56 โครงการ แต่ยังไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ทำให้ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ โดยขณะนี้พื้นที่ที่รับประโยชน์มีเพียงร้อยละ 14 ของพื้นที่ทั้งหมดของลุ่มน้ำเท่านั้น
ขอขอบคุณ http://www.dailynews.co.th