ตั้งศูนย์แก้ปัญหาภัยพิบัติ เมื่อชาวชัยนาทขอยืนบนลำแข้งตัวเอง
สุกัญญา แสงงาม
“ช่วงนี้ฝนเทกระหน่ำตกติดต่อกันหลายวัน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวชัยนาท เริ่มกังวลว่าน้ำจะท่วมเหมือนปีที่ผ่านมารึเปล่า?” ไม่เพียงแต่ชาวชัยนาทเท่านั้น ผู้ที่ได้ลิ่มรสความทุกข์ยากมหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว ต่างรู้สึกไม่ต่างกัน
ว่าที่ รต.อภิชัย รุ่งพึ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน จ.ชัยนาท ฉายภาพพ่อแม่พี่น้องชาวชัยนาทนั่งกอดเข่าอยู่ข้างถนน น้ำตาคลอเบ้า สายตาเหม่อมองไปยังบ้านที่ถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา เห็นเป็นผืนน้ำ สายตาของพวกเขาบ่งบอกถึงความสิ้นหวัง หลายครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด พ่อแม่ลูกผลัดพรากกันไปอยู่กันคนละทิศละทาง ชาวบ้านต้องมายืนเข้าแถวรออาหารกล่อง ถุงยังชีพ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เนื่องจากการคมนาคมถูกตัดขาด
“ภาพพี่น้องชาวชัยนาทได้รับความเดือดร้อน ผมยังจำได้ติดตาและไม่มีวันลืม ภายหลังน้ำลดผมและทีมงาน กระจายลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย 10กว่าพื้นที่ พบชาวบ้านมีอาการระทมทุกข์อย่างแสนสาหัส ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว มีหนี้สิน บ้านเรือนพังทลาย เครื่องมือทำมาหากินถูกน้ำท่วมเสียหายใช้งานไม่ได้ ผลผลิตทางการเกษตร ประมง ถูกน้ำพัดหายไปหมด ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะให้เงินเยียวยาค่าเสียหาย ก็ไม่เท่ากับสิ่งที่สูญเสียไป”
ผลการสสำรวจความต้องการภายหลังน้ำท่วม ได้คำตอบในทิศทางเดียวกันว่า ความเสียหายครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพง แล้วชุมชนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น ชุมชนต้องการยืนบนลำแข้งของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ ชุมชนต้องการบริหารจัดการแก้ปัญหาโดยคนในชุมชน โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนแทน
ว่าที่ รต.อภิชัย เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านมองระบบการเตือนภัยพิบัติของภาครัฐล้มเหลว เนื่องจากโครงสร้างระบบราชการ มีขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยาก กรมแจ้งมากอง กองแจ้งมาจังหวัด จังหวัดแจ้งมาอำเภอ อำเภอแจ้งมาตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กว่าจะประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าภัยจะมาถึงตัวแล้วนะ กลายเป็นว่าประชาชนรู้เป็นคนสุดท้าย พอรู้ก็สายเสียแล้ว เก็บของหนีน้ำไม่ทัน สมบัติที่ชาวบ้านสะสมมาทั้งชีวิตจมไปกับสายน้ำ
และช่วงน้ำท่วม รัฐได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้แก่ชาวบ้าน คือเป็น “ผู้รับ” ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากวัฒนธรรมไทยที่มีมาในอดีต ตามปกติเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ชาวบ้านจะสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พอรัฐสร้างวัฒนธรรม “ผู้รับ” หน่วยงานรัฐส่งของมาช่วยเหลือชาวบ้านก็ไปเข้าแถวรับ เพราะต้องการรักษาสิทธิอันพึ่งมีพึ่งได้ ประมาณว่าบ้านนั้นได้ บ้านฉันก็ต้องได้ด้วย
ว่าที่ รต.อภิชัย บอกว่า จากหลากหลายเหตุผล ทำให้ชุมชนรวมพลังกันลุกขึ้นมา จัดตั้งศูนย์แก้ไขภัยพิบัติภาคประชาชน โดยได้แรงหนุนจากผู้นำท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สำนักงานปฏิรูป (สปร.) และภาคเอกชน ในขณะนี้ได้ออกแบบศูนย์ฯเสร็จแล้ว จำนวน 17 ศูนย์ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจะมารวมตัวกันในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ โดยแยกเป็นชุมชน แต่ใช้ระบบบริหารจัดการโดยคนในชุมชนเอง คือ เราจะมีวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ศูนย์แห่งหนึ่งประกอบอาหาร 1 อย่าง แล้วนำอาหารมาแลกเปลี่ยนกัน ชาวบ้านจะมีอาหารให้เลือกรับประทาน 17 อย่าง สถานที่พักอาศัยเราจะสร้างแพ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ แพห้องน้ำ และหน่วยปฐมพยาบาล คือจัดเตรียมอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันไว้ในศูนย์ ฯ ชาวบ้านไม่ต้องไปกินนอนบนถนนอีก
นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดจนชาวบ้านแต่ละชุมชน จะต้องฝึกขับเรือให้เป็นด้วย ที่สำคัญผู้นำเหล่านี้จะประสานงานกับอำเภอ จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รู้ความเคลื่อนไหว ถ้าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้ประกาศผ่านวิทยุคลื่นสั้น (วอ) หรือ ประกาศเสียงตามเสียง หรือ วิทยุชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อป้องกันการเสียหาย หรือเสียหายน้อยที่สุด
“ศูนย์แก้ไขภัยพิบัติฯ เป็นการออกแบบระหว่างผู้นำชุมชน กับ ชาวบ้าน ถ้าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น คนในชุมชนจะช่วยดูแลซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคีให้แก่คนชุมชน กลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง ยืนบนขาของตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพารัฐมากนัก” ว่าที่ รต.อภิชัย บอก...วันนี้ ชาวชัยนาท ไม่รู้ว่าจะเกิดอุทกภัยเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อความไม่ประมาท ชาวบ้านรวมพลังตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติ พร้อมบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขา
ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th