ช่วยกันผลิตและใช้สินค้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ

Wednesday, 02 January 2019 Read 2499 times Written by 

syn50

 

ช่วยกันผลิตและใช้สินค้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ ช่วยให้โลกเย็นขึ้น

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือรอยเท้าคาร์บอน เป็นศัพท์ใหม่อีกคำที่ได้ยินได้ฟังเมื่อต้องรับรู้เรื่องอากาศแปรปรวนและโลกร้อน นอกจากนี้ เรายังได้ฟังคำใหม่ ๆ อีกมากมายที่แม้จะได้ยินจนชินหู แต่อาจจะไม่รู้ความหมายชัดเจน และไม่แน่ใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเราทั้งหลายซึ่งต้องเผชิญโลกร้อนอยู่ทุกวันนี้

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น เครื่องอุปโภคบริโภคทุกชนิดทุกชิ้นจึงมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ บริษัทหรือกิจกรรมอุตสาหกรรมใดที่รักโลก อยากช่วยรักษ์โลกไว้ ก็จะเข้าร่วมชะลอโลกร้อนด้วยวิธีต่าง ๆ การติดฉลากหรือเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นวิธีหนึ่งที่บอกผู้บริโภคว่าผู้ผลิตใส่ใจปัญหาโลกร้อน อีกทั้งทำให้กลุ่มผู้บริโภคตื่นตัว เลือกซื้อสินค้าที่ช่วยส่งเสริมให้มีสังคมคาร์บอนต่ำ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะแสดงค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวเลข 3 ตัวอักษร ในหน่วยกิโลกรัมหรือกรัม ตามแต่จะเหมาะสม พร้อมข้อเสนอแนะสำหรับผู้ใช้หรือผู้บริโภคเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีคำอธิบายเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการติดฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ ฉลากนี้ยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่พัฒนาแนวปฏิบัติสำหรับคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์และทำฉลากติดผลิตภัณฑ์ โดยตั้งแต่ ค.ศ. 2009 ถึง 2013 มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 800 ชนิด จาก 190 บริษัท ที่ติดฉลากนี้

ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ทำให้น่าเชื่อถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงช่วยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากหลายประเทศเริ่มใช้ฉลากนี้ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น นอกจากนั้น ฉลากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการประชุมระดับโลกเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันมีงานวิจัยเรื่องการเก็บข้อมูล การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ การปันส่วนคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ร่วม การปฏิบัติตามเกณฑ์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ การพิจารณาฉลากคาร์บอนแบบต่าง ๆ และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค งานเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณมาก บริษัทขนาดใหญ่อาจทำได้เอง เนื่องจากมีการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี และกิจกรรมที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ตามนโยบายเพื่อการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว ส่วนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่เห็นว่าการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เนื่องจากคนทั้งประเทศและทั้งโลกต้องรับผลของปัญหาโลกร้อนด้วยกัน หน่วยงานรัฐจึงควรสนับสนุนให้บริษัทและองค์กรทั้งหลายรับผิดชอบร่วมกันต่อไป อีกทั้งควรทำข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อให้มีวิธีคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ส่งออกปริมาณมากจากประเทศกำลังพัฒนา ฉลากของไทยควรใช้ได้ในระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ร่วมมือ นอกจากนี้ ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีนโยบาย “จัดซื้อสีเขียว” เพื่อให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องปรับปรุงการผลิตโดยตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ถ้าไม่ปรับปรุงก็ขายของไม่ได้ และยังควรกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไว้อย่างชัดเจน ทั้งผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่แล้วและผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกชนิด

อุตสาหกรรมหลักในไทยที่ส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลัง การผลิตน้ำตาลจากอ้อย และการปลูกสับปะรดและการผลิตสับปะรดกระป๋อง ได้ปรับตัวเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเต็มที่ มีงานวิจัยหลายชิ้นนำเสนอเรื่องนี้

ปกติอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ โรงงานแป้งมันสำปะหลังในไทยส่วนใหญ่ (มากกว่า 90%) เปลี่ยนมาใช้วิธีอบแป้งให้แห้งโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตโดยใช้น้ำเสียของโรงงานเป็นสารตั้งต้น และใช้ก๊าซชีวภาพที่เหลือใช้ไปผลิตกระแสไฟฟ้า นักวิจัยเก็บข้อมูลจากโรงงานที่มีกำลังผลิตแป้ง150-350 ตันต่อวัน 4 แห่ง ทั้งในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาคำนวณค่าเฉลี่ย พบว่าการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งอุตสาหกรรมนี้ได้ 0.9 -1.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้ ยังได้กระแสไฟฟ้าประมาณ 19-57% ของความต้องการทั้งหมด จึงช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายของรัฐได้ หากเกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีก นอกจากนี้ยังจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นอีกด้วยการควบคุมการขนส่ง การบำบัดน้ำเสีย และการผลิตก๊าซชีวภาพ

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจากอ้อยก็เช่นกัน นักวิจัยได้สำรวจ สัมภาษณ์ ออกแบบสอบถาม เก็บข้อมูลทางสถิติมาประมวล พบว่าการปลูกอ้อยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการผลิตน้ำตาล คิดเป็นร้อยละ 88 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากการใส่ปุ๋ย การเผาชีวมวลหลังตัดอ้อย และการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน หากใช้เชื้อเพลิงการจากเผาชีวมวลแทนที่จะเผาทิ้งในไร่อ้อย ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกกว่าร้อยละ 15 หากผู้บริโภคลดการกินน้ำตาลอ้อย - น้ำตาลทราย และขนมหวานสารพัดชนิดได้ นอกจากจะลดความอ้วนและลดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ส่วนการปลูกสับปะรดและผลิตสับปะรดกระป๋องนั้นแตกต่างไป การปลูกสับปะรดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใส่ปุ๋ย 172 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลกรัม แต่การผลิตสัปปะรดกระป๋องปล่อยก๊าซเรือนกระจก 738 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกระป๋อง ร้อยละ 42 ของก๊าซนี้มาจากกระป๋องและการบรรจุ จึงมีข้อแนะนำว่า ควรหาทางรีไซเคิลกระป๋องให้มากขึ้น ไม่ผลิตกระป๋องจากวัตถุดิบใหม่ตลอดเวลา

เมื่อได้รู้แล้วว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์สำคัญเช่นนี้ เราในฐานะผู้บริโภคก็ควรเสริมสร้างนิสัยมองหาและอ่านฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก่อนจะซื้อไปกินไปใช้ จะได้ช่วยกันลดโลกร้อน เราทุกคนจะได้อยู่อย่างสบาย ๆ ไม่ร้อนไปกว่านี้

อ้างอิง:

Gheewala, S. H., & Mungkung, R. (2013). Product carbon footprinting and labeling in Thailand: experiences from an exporting nation. Carbon Management, 4(5), 547-554.

Hansupalak, N., Piromkraipak, P., Tamthirat, P., Manitsorasak, A., Sriroth, K., & Tran, T. (2016). Biogas reduces the carbon footprint of cassava starch: a comparative assessment with fuel oil. Journal of Cleaner Production, 134, 539-546.

Yuttitham, M., Gheewala, S. H., & Chidthaisong, A. (2011). Carbon footprint of sugar produced from sugarcane in eastern Thailand. Journal of Cleaner Production, 19(17-18), 2119-2127.

Usubharatana, P., & Phungrassami, H. (2017). Evaluation of Opportunities to Reduce the Carbon Footprint of Fresh and Canned Pineapple Processing in Central Thailand. Polish Journal of Environmental Studies, 26(4), 1725-1735.

Photo by Framepool

 

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank