ป่าไม้ในเมืองช่วยดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและลดมลพิษทางอากาศ
“ร้อนจัง ร้อนจริง อยู่ในป่าคอนกรีตก็ร้อนอย่างนี้แหละ” คนกรุงเทพฯ บ่นแล้วก็พากันหนีเข้าห้าง เข้าอาคารติดแอร์ให้คลายร้อน ทว่า นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแบบยั่งยืน อีกทั้งเครื่องปรับอากาศกลับจะเพิ่มความร้อนให้กรุงเทพฯ และโลกด้วยซ้ำ เรารู้กันดีว่า ต้องปลูกต้นไม้มาก ๆ จะได้ช่วยลดโลกร้อน เพราะต้นไม้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่าง ๆ ในเมือง มาสะสมเป็นอินทรีย์สารคาร์บอนในเนื้อไม้ แต่ถ้าจะปลูกต้นไม้ จะปลูกต้นอะไรดีล่ะ มองไปรอบตัว ก็เห็นต้นไม้ในกรุงเทพฯ ไม่น้อย เรายังมีต้นไม้ไม่พออีกหรือ ต้องปลูกเพิ่มตรงไหนอีกบ้าง
เมื่ออยากรู้ย่อมต้องวิจัย เพื่อประเมินโครงสร้างและประโยชน์ใช้สอยของป่าไม้ในเมืองทั่วกรุงเทพมหานคร ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ค.ศ. 2013 นักวิจัยเดินสำรวจพื้นที่แบบสุ่ม เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม i-Tree Eco พบว่า ป่าในเมืองกรุงเทพฯ มีลักษณะเหมือนป่าในเมืองใหญ่อื่น ๆ ทั่วโลก คือแม้จะมีต้นไม้มาก แต่ขาดความหลากหลายของสายพันธุ์ นักวิจัยประเมินว่า กรุงเทพฯ มีต้นไม้ 2.5 ล้านต้น ร้อยละ 8 เป็นต้นไม้ข้างถนน ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้เล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางวัดที่ความสูงระดับอก (สูง 1.3 เมตร) น้อยกว่า 23 เซนติเมตร ถึงแม้มีต้นไม้ทั้งหมด 48 สายพันธุ์ แต่ร้อยละ 34.1 ประกอบด้วยสามสายพันธุ์เท่านั้น คือ อโศกอินเดีย (ร้อยละ 15.7) มะม่วง (ร้อยละ 13.0) และมะขามเทศ (ร้อยละ 5.4) อีกร้อยละ 56 ประกอบด้วยต้นไม้ 45 สายพันธุ์ อาทิ ประดู่ จามจุรี มะขาม นนทรี และชมพูพันธุ์ทิพย์
ป่าไม้ในเมืองช่วยลดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซโอโซน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ละปีต้นไม้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในเขตเมืองโดยสะสมคาร์บอนได้ 309,700 ตัน และดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ 16,271 ตัน เมื่อประเมินคุณค่าการบริการเชิงนิเวศของป่าไม้ในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนเงิน พบว่ามีมูลค่ากว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ
ข้อมูลนี้ควรนำไปใช้ในการออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมือง โดย 1) จัดอันดับพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว โดยประเมินจากราคาของพื้นที่และต้นทุนของโอกาสที่จะใช้งาน 2) ประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3) ส่งเสริมการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้เมือง โดยการปลูกพืชที่ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองใหญ่ เช่น งานวิจัยของ Hall, Handley, and Ennos (2012) พบว่าการเพิ่มพื้นที่ทรงพุ่มของต้นไม้จากร้อยละ 2.8 เป็นร้อยละ 5.3 ในบริเวณที่มีบ้านเรือนหนาแน่นจะช่วยลดอุณหภูมิอากาศใกล้พื้นผิวเพิ่มขึ้นได้จาก 0.5 องศาเซลเซียส เป็น 2.3 องศาเซลเซียส
การจัดการป่าไม้ในเมืองกรุงเทพฯ และประเทศไทย นักวิจัยควรประเมินความรู้ความเข้าใจของชาวกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในเรื่องความสำคัญของการปลูกป่าในเมือง ควรฟังความเห็นและความต้องการ รวมทั้งการตัดสินใจของคนในพื้นที่ และควรมีการศึกษาเพื่อประเมินค่าประโยชน์ใช้สอยของป่าในเมืองเพิ่มขึ้นต่อไป
อ้างอิง : Intasen, M., Hauer, R. J., Werner, L. P., & Larsen, E. (2017). Urban forest assessment in Bangkok, Thailand. Journal of Sustainable Forestry, 36(2), 148-163.
Photo by OECD Observer