ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 5 มิถุนายน 2553 เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยเรื่องขยะ โดยเฉพาะขยะอันตรายที่เกิดจากครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ใช้กันมาก เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเคมีทำความสะอาด ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขยะเหล่านี้มีสารเคมีตกค้าง เป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ในปี 2546 พบขยะอันตรายจากชุมชนปีละประมาณ 4 แสนตัน กว่าครึ่งเกิดใน กทม.ปริมณฑลและภาคกลาง ขยะเหล่านี้ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีน้อยมาก กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ประชาชนกำจัดขยะอันตรายด้วยตนเอง แต่แนะนำให้แยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดขยะ ควรจะจัดถังหรือถุงขยะสีส้ม ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของขยะอันตราย และรณรงค์ให้ประชาชนนำขยะอันตรายใส่ถุงสีส้มเพื่อแยกขยะอันตรายออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งจะเป็นการลดการแพร่กระจายของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมและประชาชน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังมีการตื่นตัวกับขยะอันตรายน้อยมาก
ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ กล่าวว่า ขยะอันตรายหมายถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว แต่ยังมีสารเคมีอันตรายหลงเหลือ อยู่ เช่น กระป๋องสเปรย์ ภาชนะบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเคมีทำความสะอาด สารเคลือบเงาต่างๆ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยซากขยะเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีสารโบรมีน ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ถ่านไฟฉายมีสารแคดเมียม เป็นอันตรายต่อโครงสร้างของกระดูก ปอด ไต อาจเกิดไตวายได้ หลอดไฟฟ้ามีสารปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาท แบตเตอรี่มีสารตะกั่วทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้พัฒนาการสมองในเด็กช้าลง สติปัญญาด้อยลง
“กลุ่มที่เสี่ยงสัมผัสขยะอันตราย ได้แก่ กลุ่มที่มีอาชีพเก็บหรือรับซื้อของเก่า หรือที่เรียกว่าซาเล้ง มักนำภาชนะบรรจุสารเคมีไปล้าง แล้วเทสารเคมีที่ยังเหลืออยู่ลงดินหรือลงน้ำ ทำให้ดินและน้ำปนเปื้อนสารพิษ ขอให้งดการกระทำดังกล่าว ให้นำไปทิ้งในที่ที่เทศบาล หรือ อบต.จัดไว้ให้ และไม่ควรรับซื้อภาชนะดังกล่าว ขณะคัดแยกขยะควรใส่ถุงมือยางและใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกสารพิษ เพราะสารพิษบางตัวซึมผ่านผิวหนังได้” นพ.มานิต กล่าว
ด้านนายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า อยากให้พี่น้องประชาชนร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่จับสัตว์น้ำในเขตหวงห้าม ไม่จับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ ช่วยกันสอดส่องดูแล และเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งนี้เพื่อให้สัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งอาหารอยู่คู่ลูกหลานตลอดไป
รวบรวมข้อมูลโดย : สำนักข่าว สสส.
ขอขอบคุณที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ