ผู้เขียน เสกขภูมิ วรรณปก
ที่มา นสพ.มติชน
เผยแพร่ 24 เม.ย. 60
แนวคิดที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนของฝ่ายบริหารภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดนี้จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีสเป็นประเด็นที่ทอดเงาปกคลุมเหนือการประชุมทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
การประชุมประจำปีของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่พ่วงด้วยการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ (จี20) มีประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วนมาโดยตลอดในระยะหลัง
แต่การประชุมหนล่าสุดที่เพิ่งจะปิดฉากไปเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากการก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์ นั่นคือ ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่ได้รับฉันทามติจากทุกฝ่ายอีกต่อไป
สหรัฐประสบความสำเร็จมาแล้วในการขอให้ตัดถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องสภาพภูมิอากาศออกจากแถลงการณ์ร่วมในการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี 20 ที่เมืองบาเดน-บาเดน ในเยอรมนี เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
และอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน ในการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี20 ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ที่รัฐบาลสหรัฐชุดก่อนหน้าภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ ทำเนียบขาวกังขาในเรื่องโลกร้อนและยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะขอถอนตัวออกจากความตกลงปารีส เพื่อต่อสู้กับโลกร้อนโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เห็นพ้องกันโดย 194 ประเทศเมื่อเดือนธันวาคม 2558
ความเป็นไปได้ที่สหรัฐประเทศที่มีขนาดของเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีนจะถอนตัวออกจากความตกลงปารีสนั้น เซโกแลน รอยาล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมฝรั่งเศสประเมินว่าอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์
แต่ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้โลกร้อนคนสำคัญจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มีความหวังในทางบวกมากกว่า โดยระบุว่า “มีโอกาสสูงมาก” ที่สหรัฐจะไม่ถอนตัวจากความตกลงปารีสด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือเศรษฐกิจ
“การสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังแสงอาทิตย์ตอนนี้มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าการสร้างงานโดยรวมของศรษฐกิจถึง 17 เท่า” กอร์บอก
นอกจากนี้ นักสังเกตการณ์บางส่วน อาทิ องค์กรการกุศลออกซ์แฟม ยังเชื่อว่า จะมีแรงกดดันอย่างรุนแรงต่อภาคเอกชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังฝ่ายบริหารของทรัมป์
เนื่องจากการลงทุนทางการเงินในโครงการหรือเทคโนโลยีที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมจะได้รับเสียงคัดค้านจากสาธารณชนในวงกว้าง
Credit เนื้อหา http://www.matichon.co.th/news/539284
Credit ภาพประกอบ (FILES) / AFP PHOTO / LIONEL BONAVENTURE