จับตาผลผลิตผลไม้ภาคเหนือ อากาศร้อนจัดฉุดผลผลิตลด - เกษตรทั่วไทย
เกษตรกรรม นับเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศมากที่สุด ไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ล้วนทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. จึงเกาะติด สถานการณ์ผลผลิตผลไม้ที่สำคัญในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของ ภาคเหนือ ซึ่งมีผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญคือ ลิ้นจี่ และ ลำไย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดช่วงปลายเมษายนนี้ในปริมาณมาก ดังนั้นการพยากรณ์ผลผลิตการเกษตรเป็นการจัดทำข้อมูลล่วงหน้าก่อนที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อีกทั้งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องรับทราบข้อมูลสถานการณ์การพยากรณ์ช่วงดังกล่าวเพื่อเตือนสภาพอากาศ ซึ่งมีผลต่อผลผลิตของผลไม้เมืองเหนือ
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่ ลิ้นจี่ ของภาคเหนือทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนอาจทำให้ผลไม้ตามฤดูกาลของไทยต้องออกล่าช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน ซึ่งในส่วนของผลไม้ภาคเหนือ 2 ชนิด ทั้งลิ้นจี่และลำไย พบว่า ลิ้นจี่ของไทยจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในภาคเหนือปีนี้ อากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง และในบางพื้นที่มีฝนตกทำให้ต้นลิ้นจี่แตกใบอ่อน การออกดอกกะปริดกะปรอย ส่งผลให้ปีนี้แหล่งผลิตใหญ่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และ น่าน มีผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าผลผลิตจะเหลือ ประมาณ 52,000 ตัน
สำหรับ ลำไย คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นกัน ขณะนี้เริ่มทยอยออกดอกแล้ว แต่ช่อดอกไม่สมบูรณ์อีกทั้งการออกดอกก็ล่าช้ากว่าปกติ โดยพบว่าแหล่งผลิตใหญ่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่ จะมีผลผลิตทั้งปีประมาณ 622,000 ตัน ผลผลิตในฤดูทยอยเก็บตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ประมาณ 507,000 ตัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตจะลดลงอีก จากอากาศที่ร้อนจัดและพายุฤดูร้อนในเดือนเมษายนนี้
ลำไยกับลิ้นจี่ ถือเป็นไม้เมืองเหนือที่สำคัญทางเศรษฐกิจ โดย ลำไย ถือเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าอย่างมหัศจรรย์ไม่เพียงแต่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการจากสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเท่านั้น ลำไยยังมีคุณค่าทางการแพทย์และเภสัชอีกด้วย ในทางการแพทย์แผนโบราณของจีนนั้น ได้นำลำไยโดยเฉพาะลำไยแห้งซึ่งมีสรรพคุณใช้บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด บำรุงประสาทตา บำรุงผิวพรรณ ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการเครียด กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เป็นต้น มาเป็นส่วนผสมในตัวยาด้วย จึงทำให้ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการส่งออก มูลค่าการส่งออกสูงปีละหลายพันล้านบาท ทั้งในรูปลำไยสด อบแห้ง แช่แข็ง และลำไยกระป๋อง ตลาดส่งออกลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็งและลำไยกระป๋องของประเทศไทย
...ทั้งนี้ตลาดส่งออกลำไยที่สำคัญของไทยแบ่งเป็น ลำไยสด ฮ่องกง อินโดนีเซียมาเลเซีย สิงคโปร์, ลำไยอบแห้ง จีน ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ , ลำไยแช่แข็ง สหรัฐอเมริกา, ลำไยกระป๋อง มาเลเซีย เป็นต้น.