ฤดูฝนปีนี้กำลังจะสิ้นสุดลง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ความรุนแรงจะเทียบกับมหาอุทกภัยในปี 2554 ไม่ได้ แต่ก็ได้บทเรียนในหลายเรื่อง ที่ควรจะนำมาคิดการนำบทเรียนจากมหาอุทกภัยปี 2554 มาใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำในปีนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีการเตรียมวางแผนรับมือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ มาถึง ณ วันนี้น่าจะพูดได้ว่า “ปิดฉากปัญหาน้ำท่วมในปี 2555” ได้แล้ว หลังจากนี้ต่อไปต้องเตรียมต่อสู้กับภาวะภัยแล้งปัญหาภัยแล้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ ? เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่สิ่งที่อยากจะกล่าวถึง ที่หลายคนอาจจะมองข้าม ก็คือ “เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ” เพราะหากไม่มีสิ่งนี้แล้ว การแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง จะไม่สามารถทำได้เลย เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำมีอะไรบ้าง ?
“เขื่อน” เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นแหล่งที่จะกักเก็บน้ำต้นทุน เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ หากไม่มีเขื่อนแล้วการบริหารจัดการน้ำจะลำบากเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ เหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัยในช่วงที่ผ่านมา น้ำในแม่น้ำยมซึ่งไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ฝนตกลงมาเท่าไรก็ไหลลงสู่แม่น้ำยมทั้งหมด ทำให้ปริมาณน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของสุโขทัย เสียหายย่อยยับลุ่มน้ำยมไม่มีเครื่องมือที่จะมาใช้บริหารจัดน้ำ เมื่อเกิดภัยธรรมชาติจึงรุนแรงอย่างที่เห็น และเชื่อว่าอีกไม่นานลุ่มน้ำยมก็จะเกิดปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงตามมาอย่างแน่นอน
ในขณะที่ลุ่มน้ำปิง วัง น่าน ปริมาณฝนก็ตกไม่แตกต่างจากลุ่มน้ำยมมากนัก แต่ปัญหาความรุนแรงจากน้ำท่วมเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะลุ่มน้ำเหล่านี้มีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ และที่สำคัญ กบอ. ได้มีการพร่องน้ำรองรับฝนที่จะตกลงมาไว้อีกด้วย ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเหล่านี้ ส่วนใหญ่ล้วนจะมาจากฝนที่ตกท้ายเขื่อนทั้งสิ้น
หรืออีกตัวอย่างเช่น ลุ่มน้ำคลองท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่ คือ เขื่อนคลองสียัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ท้ายเขื่อน ทำให้น้ำท่วมลุ่มน้ำคลองท่าลาด หลายอำเภอ เช่น อ.สนามชัยเขต อ.พนมสารคาม อ.บางคล้า เป็นต้น ในช่วงเวลาดังกล่าวเขื่อนคลองสียัด หยุดการระบายน้ำและกักเก็บไว้ทั้งหมด เพื่อลดผลกระทบ ให้พื้นที่น้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด หรือแม้ในช่วงที่พายุแกมี พัดผ่านเขื่อนคลองสียัดก็กักเก็บน้ำไว้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนเช่นกัน หากไม่มี เขื่อนคลองสียัดเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ผลกระทบจะรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าแน่นอน
นอกจากเขื่อนแล้ว ยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญอีกคือ แก้มลิง หรือ พื้นที่รับน้ำนอง ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นพื้นที่รับน้ำและบริหารจัดการน้ำ จนทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมทางภาคเหนือเช่น จังหวัดสุโขทัย ในปี 2555 นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาประตูระบายน้ำ ก็เป็นเครื่องมือในบริหารจัดการน้ำอีกอย่างหนึ่ง ที่ใช้ทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลของน้ำ ใน แม่น้ำ ลำคลอง แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งยังใช้ในการกักเก็บน้ำได้อีกด้วย คันกั้นน้ำ เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในการป้องกันน้ำท่วม และนิยมทำกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำป้องกันพื้นที่สำคัญๆ เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม โบราณสถาน เป็นต้น
คลองระบายน้ำ ทางผันน้ำ พร้อมอาคารประกอบ เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่ขุดและสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม ทำหน้าที่ผันน้ำทั้งหมดหรือเฉพาะบางส่วนที่จะล้นตลิ่ง ไปไว้ในที่ที่ต้องการ หรือระบายออกสู่ทะเล เช่น ที่ผ่านมาก็มีการผันน้ำจากแม่น้ำยมไปยังแม่น้ำน่าน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เป็นต้น หรือในฤดูแล้งคลองระบายน้ำ ทางผันน้ำ ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และศักยภาพของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ฝาย อุโมงค์ส่งน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ สระน้ำ บ่อพักน้ำ เป็นต้น
ดังนั้นหากต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มมากขึ้นให้เหมาะสมและเพียงพอ
...เหตุการณ์น้ำท่วม ในปี 2554 และ ปี 2555 รวมทั้งภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น น่าจะเป็นบทเรียนที่รัฐบาลจะต้องกล้าตัดสินใจก่อสร้าง “เครื่องมือบริหารจัดการน้ำ” ในลุ่มน้ำหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว.