หลายพื้นที่ทางเหนือ ยังเร่งวางแผนป้องกันน้ำท่วม ทั้งยกพื้นสูง-ขุดลอกดิน ขณะที่อีสาน ยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้นาข้าวยืนต้นตายกว่า 20,000 ไร่แล้ว
หลายพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงหนือ เร่งวางมาตรการป้องกันน้ำท่วม หลังได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น ไคตั๊ก ที่กำลังจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเหนือเกาะไหหลำ ประเทศจีน ช่วงเช้าวันนี้ (17 ส.ค.55) โดยเฉพาะที่อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่าง เพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำอีก
ด้านชลประทานยังคงเร่งระบายน้ำ ออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม หลังฝนที่ตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำล้นทางระบายน้ำฉุกเฉิน ไหลเข้าท่วมตัวเมืองแม่สอด จ.ตาก เมื่อสัปดาห์ก่อน แม้ล่าสุดระดับน้ำจะลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำมีมากกว่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน
ขณะที่วัดต่าง ๆ ในจ.พิจิตร มีการก่อสร้างพระอุโบสถแบบยกสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น วัดศรีมงคล ต.หัวดง อ.เมืองพิจิตร ที่ต้องยกพื้นสูงกว่า 2 เมตร เนื่องจากที่รอบวัด เป็นที่ลุ่มติดริมแม่น้ำน่าน ที่มักถูกน้ำท่วมทุกปี นอกจากนี้ยังพบว่า มีวัดติดริมแม่น้ำยม และ แม่น้ำน่าน ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมอีกกว่า 150 แห่ง เช่นเดียวกับจ.มหาสารคาม เจ้าหน้าที่เร่งก่อสร้างคันดินรอบโขงกุดหวาย ต.เกิ้ง อ.เมืองมหาสารคาม ให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร พร้อมขุดลอกใต้สะพานเพื่อเปิดทางน้ำ รองรับฤดูน้ำหลาก เนื่องจากต.เกิ้งอยู่ติดริมแม่น้ำชี และมักประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงด้านจ.หนองคาย แม้ระดับน้ำจะลดลงเฉลี่ยวันละ 20 เซนติเมตร แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เตือนว่าใน 1-2 วันนี้ จะมีพายุฝนกระจายร้อยละ 70 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจ.เลย ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร และนครพนม
ขณะที่หลายจังหวัด ยังคงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เช่นที่อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา นาข้าวกว่า 20,000 ไร่ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ชาวนาบอกว่า ภาวะฝนทิ้งช่วงปีนี้ ยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่สำนักงานเกษตรอ.หนองบุญมาก ได้เร่งประสานไปยังศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงนครราชสีมา เพื่อให้เร่งทำฝนหลวงแล้ว ไม่ต่างกับที่จ.อุบลราชธานี นาข้าวในต.แพงใหญ่ และต.เหล่าเสือโก๊ก ที่เพิ่งปักดำไว้เริ่มแห้งตาย ขณะที่ชาวนาเรียกร้องให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพื่อใช้สูบน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่ยังเหลืออยู่
ขอขอบคุณ http://news.thaipbs.or.th