จังหวัดนครราชสีมาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง โดยเกษตรกรผู้ปลูกผักในพื้นที่ต้องปรับตัวเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ โดยระบุว่าภัยแล้งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ขณะที่นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยเชื่อว่ารัฐอาจต้องชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรสูงกว่า 50,000 ล้านบาท
แปลงผักเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ 8 ไร่ ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา บางแปลงว่างเปล่า เนื่องจากไม่มีการปลูกผักมานาน ขณะที่บางแปลงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ระบุว่ามีความกังวลกับภาวะแล้งที่ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่วังน้ำเขียวไม่เคยเจอประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
ส่วนเกษตรกรอีกรายในพื้นที่วังน้ำเขียว เผยว่าผลผลิตผักในช่วงนี้ค่อนข้างน้อย คุณภาพต่ำและความเสียหายสูงซึ่งส่งผลต่อต้นทุนให้เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ
โดยแหล่งน้ำของเกษตรกรในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งเกษตรกรรวมกลุ่มกันสร้างฝ้ายกักเก็บน้ำและสูบน้ำมาใช้ แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำลดลงกว่าร้อยละ50 ซึ่งในระยะยาวเกษตรกรในพื้นที่มีแนวคิดจะรวมกลุ่มกันเพื่อเปลี่ยนระบบให้น้ำใหม่เพื่อเตรียมรับปัญหาขาดแคลนน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลขาดการดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่มีการขุดลอกคูคลองเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน รวมทั้งการปล่อยน้ำที่เร็วเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำใช้ไม่เพียงพอ ซึ่งกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร
นายอนันต์ กล่าวว่า รัฐบาลสามารถวางแผนรับมือภัยแล้งล่วงหน้าได้ โดยระยะสั้น ต้องเร่งขุดลอกคูคลองเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน ขณะที่ระยะกลางและระยะยาว ควรขุดสระเพิ่มแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกร รวมทั้งพิจารณาสร้างเขื่อนเพิ่มเติม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
Credit: http://news.thaipbs.or.th/