นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดว่าสำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 4 เขื่อนเช่นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด 10,485 ล้านลบม.ร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกันที่มี มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 3,789 ล้านลบม.ร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯรวมกัน "จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล เหลือเพียงร้อยละ 15และเขื่อนสิริกิติ์ ร้อยละ12 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำ เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้นส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว"นายเลิศวิโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ โดยจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า + 14.00 เมตร(รทก.) โดยขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชน ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ต้องงดทำนาปรังครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นมากระทบกับระบบผลิตน้ำปะปา
"ขอให้ประชาชนที่อาศัยและปลูกบ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอยู่ในบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำด้วย รวมทั้งผู้ประกอบการในแม่น้ำ เช่น แพร้านอาหาร กระชังปลา เพราะปริมาณน้ำในลำน้ำลดระดับลงอย่างต่อเนื่องให้วางแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะลดระดับ และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังซึ่งต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกิจการต่างๆ ของผู้ประกอบการในลำน้ำสายหลัก"นายเลิศวิโรจน์ กล่าว
Credit: http://www.dailynews.co.th