ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมทั้งหมดในระบบนิเวศ ล่าสุดที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องก็คือ “อุณหภูมิน้ำ” ที่เริ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อ “ปลา” จำนวนมากทั้งในท้องทะเลและแม่น้ำต่างๆ ทั่วโลก
โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจในประเด็นดังกล่าว เป็นรายงานการค้นพบที่น่าตกใจและกระทบต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง นั่นคือการค้นพบว่าบรรดาปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ มีความเสี่ยงสูงมากกกว่าที่คิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุก็เพราะไข่ปลาและตัวอ่อนของปลามีความอ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรมากเป็นพิเศษ
ในงานวิจัยเรื่อง "Thermal bottlenecks in the life cycle define climate vulnerability of fish" (ภาวะความร้อนที่บีบคั้นในวัฏจักรชีวิตทำให้ปลาต้องอยู่ในอิทธิพลความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศ) โดยนักวิจัยวิเคราะห์การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความทนทานต่อความร้อนของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดและปลาทะเล 694 สายพันธุ์
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียสจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้ชนิดพันธุ์ปลาทั่วโลกถึง 60% ในระยะต่าง ๆ ของชีวิตไม่ว่าจะเป็นระยะฟักตัวหรือโตเต็มที่จะไม่สามารถรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มันอยู่อาศัยได้ภายในปี 2643 (ค.ศ. 2100)
ถึงแม้ว่ามนุษยชาติจะบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิของโลกก็จะยังร้อนเกินไปอยู่ดีสำหรับปลา 10% ในโลก และต้องตระหนักว่าเป้าหมายดังกล่าวตามความตกลงปารีสเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าคงมีเพียง 5% ของสายพันธุ์ปลาที่ต้องตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากภาวะโลกร้อนหากอุณหภูมิสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส แต่การประเมินก่อนหน้านี้สำรวจเฉพาะปลาโตเต็มที่แล้วไม่ได้รวมเอาปลาในระยะฟักตัวและตัวอ่อน
การวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ได้มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อปลาในระยะต่าง ๆ ของชีวิต แต่ทีมวิจัยล่าสุดคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างปลานอกระยะสืบพันธุ์และปลาในระยะสืบพันธุ์ รวมถึงปลาในระยะฟักไข่และตัวอ่อน จากการศึกษาพบว่าช่องว่างระหว่างอุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดสำหรับปลาในระยะสืบพันธุ์และตัวอ่อนมีแค่ 2 องศาเซลเซียสและ 8.4 องศาเซลเซียส ตามลำดับ เทียบกับปลาโตเต็มวัยที่ 27.5 องศาเซลเซียส
สาเหตุหลักที่ปลารุ่นเยาว์และตัวอ่อนไม่สามารถทนต่อภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรได้เนื่องจากปลาในช่วงวัยนี้ต้องการออกซิเจนมาก ออกซิเจนนั้นละลายได้ในน้ำที่เย็นและจะละลายได้น้อยกว่าในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น และน้ำที่เย็นกว่ายังมีประโยชน์ต่อตัวอ่อนในทางอื่น ๆ อีกด้วย
Hans-Otto Pörtner นักกาลวิทยาจากสถาบัน Alfred Wegener Institute ในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย กล่าวว่า การจำกัดให้อุณภูมิสูงขึ้นแค่ 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจนักเพราะจะมีความเปลี่ยนแปลงต่อโลกติดตามมา แต่เราสามารถจำกัดความเปลี่ยนแปลงให้น้อยลงได้ด้วยการหยุดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อปลา เพราะปลามีความสำคัญต่อโภชนาการของมนุษย์ ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่สำคัญสำหรับการปกป้องระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเรา
แต่ Pörtner กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คาดว่าทะเลจะอุ่นเร็วเกินกว่าที่ปลาจะปรับตัวให้เกิดวิวัฒนาการได้ทัน และถึงแม้ว่าปลาจะสามารถอพยพย้ายถิ่นไปยังภูมิภาคที่เย็นกว่า แต่คงไม่สามารถหาแหล่งวางไข่ใหม่ที่เหมาะสมได้ง่าย ๆ ดังนั้นเราจึงควรพยายามจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
Credit เนื้อหาและภาพประกอบ