สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า ตัวแทนผู้เจรจาจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงลิมา เมื่อวันจันทร์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องสภาวะโลกร้อนในปีหน้า ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยความคืบหน้าล่าสุดคือการที่จีน สหรัฐ และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลก ให้คำมั่นจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลงภายใน 10-15 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และออสเตรเลีย ยังคงไม่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
เป้าหมายของความร่วมมือคือการตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก แบ่งเบาภาระความรับผิดชอบให้สมดุล ระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตกผู้ร่ำรวยและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่นจีนและอินเดีย ขณะเดียวกันก็หาทางช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนหรือประเทศที่มีความเปราะบาง ในการป้องกันตัวจากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และภัยแล้ง เป็นต้น โดยในอดีต พิธีสารเกียวโตที่มีการลงนามร่วมกันเมื่อปี 2540 ครอบคลุมเพียงกลุ่มประเทศอุตสากรรม แต่ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาคือกลุ่มหลักของการปล่อยคาร์บอนฯ
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในภาพรวมยังคงอยู่ที่ความพยายามในการควบคุมอุณภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมองว่าอาจเป็นเป้าหมายที่ยากจะเป็นจริง เนื่องจากปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวราว 0.8 องศาเซลเซียส.
Credit : http://www.dailynews.co.th