เกิดพายุลมแรง และฝนตกหนักในหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเวียดนามวันเสาร์นี้ ในขณะที่พายุเบบิงกา (Bebinca) พัดเข้าสู่เกาะไหหลำของจีนที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร และคาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งในบริเวณรอยต่อชายแดนจีน-เวียดนามในบ่ายวันอาทิตย์ 23 มิ.ย.นี้ และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย ได้ออกคำแถลงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา เตือนประชาชนท้องถิ่นต่างๆ เตรียมรับมือกับฝนที่จะตกหนักในช่วง 2-3 วันข้างหน้า และถึงแม้ว่าหลายสำนักจะพยากรณ์ว่า พายุจะพัดขึ้นเหนือเข้าสู่แผ่นดินใหญ่จีน แต่ยังมีโอกาสที่จะพัดออกทิศตะวันตก หรือตะวันตกเฉียงเหนือเข้าเวียดนามเต็มกำลัง
เกิดฝนตกหนักที่สุดในเขตอ่าวฮาลอง จ.กว๋างนีง ในวันเสาร์นี้ รวมทั้งนครหายฝ่อง ที่อยู่ติดกัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ กล่าวว่า กรุงฮานอย เมืองหลวงกำลังจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนลูกนี้ซึ่งจะเสริมกำลังให้แก่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่เขตที่ราบปากแม่น้ำแดง ลงไปจนถึง จ.ห่าตี๋ง ในภาคกลางตอนบน กับ จ.ซยาลาย ในเขตที่ราบภาคกลางของประเทศ ไปจนถึงวันจันทร์
กำลังจะเกิดฝนตกหนักวัดได้ 150-250 มิลลิเมตร ในภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่ จ.ห่านาม ถายบิ่ง นามดีง ไปจนถึง จ.นีงบี่ง ส่วนกรุงฮานอย กับจังหวัดปริมณฑลคาดว่าจะวัดน้ำฝนได้ 100-150 มม. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ กล่าว
ในขณะเดียวกัน พายุกำลังทำให้เกิดคลื่นลมแรงในอ่าวตังเกี๋ย ทางการจังหวัดต่างๆ โดยรอบได้สั่งเรือประมงราว 17,700 ลำ ห้ามออกจากฝั่ง ขณะที่ยังมีอีก 68 ลำ พร้อมลูกเรือราว 800 คน กำลังหาปลาอยู่ในทะเลรอบๆ หมู่เกาะพาราเซล สำนักข่าวอานนีงทูโดรายงานในเว็บไซต์
พายุเบบิงกา ที่ตั้งชื่อโดยทางการเขตพิเศษมาเก๊า เป็นลูกที่ 2 ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ในปี้นี้
ก่อตัวเป็นดีเปรสชันวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และทวีความเร็วขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ในวันที่ 21 คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำในคืนวันเสาร์ ก่อนอ่อนตัวลงเป็นดีเปรสชัน
แต่เบกิงกา กำลังจะปั่นตัวเองขึ้นอีกครั้งหนึ่งเป็นพายุโซนร้อน ขณะพัดขึ้นฝั่งในเขตรอยต่อชายแดนจีน-เวียดนาม ตอนบ่ายวันอาทิตย์นี้ และคาดว่าจะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วเป็นดีเปรสชันอีกครั้ง แต่สำหรับเวียดนามมีประสบการณ์มากพอที่ทำให้มองในแง่ร้ายยิ่งกว่านั้นและเตรียมตัวตั้งรับ
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย กล่าวว่า ปีนี้อาจจะมีไต้ฝุ่นพัดเข้า “ทะเลตะวันออก” ถึง 13 ลูกซึ่งมากกว่าทุกๆ ปี และจะมี 5-6 ลูกที่พัดขึ้นฝั่งเวียดนาม.
Credit: http://www.manager.co.th