ความเปราะบาง การสื่อสารความเสี่ยง และการปรับตัว ของชุมชนเกษตรกรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางสาว จารุวรรณ เกษมทรัพย์
นาย พูนพิภพ เกษมทรัพย์
นางสาว ศศิพรรณ บิลมาโนช
นาง มณี พนิชการ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนของปริมาณฝน อุณหภูมิและระดับน้ำทะเล ซึ่งส่งผลต่อเนื่องต่อทรัพยากรน้ำในเชิงคุณภาพและปริมาณ เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อยลงหรือทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำผิวดิน หรืออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการระเหยของน้ำจากพืชและแหล่งน้ำผิวดิน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองลดลง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ความเค็มปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดังนั้นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในการจัดสรรทรัพยากรน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่อัตราการใช้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น พื้นที่ในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และ แผนการพัฒนาเมืองบริวารของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ดีร้อยละ 90 ของการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ประมงน้ำจืด และปศุสัตว์ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังได้รับจากอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนผ่านทางแม่น้ำบางปะกง ส่งผลให้สภาพน้ำในลำคลองต่างๆเป็นน้ำกร่อย ดังนั้นการศึกษาวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาดัชนีความเปราะบางในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนเกษตรกรในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนการสื่อสารความเสี่ยง และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และเสนอแนะแนวทางในการปรับตัวของชุมชนเกษตรกรในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และสังคม
การวิจัยในครั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึงมีการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม โดยแหล่งน้ำในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำบางปะกง คลองประเวศบุรีรมย์ คลองบางขนาก โดยระบบชลประทานซึ่งรับผิดชอบโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์เจ้าไชยานุชิต ในการควบคุมระดับน้ำในช่วงฤดูฝน ฤดูแล้ง เพื่อกักเก็บน้ำในลำคลองสำหรับการทำเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภค การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนป้องกันน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ทำการเกษตร ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทราประกอบอาชีพทำนา 323,085 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 และยกร่องปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน มะพร้าว และหมาก เป็นต้น ปัญหาภัยแล้ง จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ของทุกปี เนื่องจากปริมาณของน้ำฝนมีน้อยและแม่น้ำบางปะกงมีความเค็มเกินระดับ ไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค หรือเพื่อการเกษตร ประกอบกับพื้นที่อำเภอเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา สามารถทำนาได้ 5 ครั้งในช่วง 2 ปี จึงต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ทำให้น้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วม จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากมีฝนตกมาก และพื้นที่อำเภอติดกับเขตกรุงเทพฯ จึงต้องรับน้ำจากทางเหนือที่ไหลลงสู่กรุงเทพฯ กรมชลประทานจะปัดน้ำให้ไหลผ่านเข้าเขตอำเภอเพื่อออกสู่แม่น้ำบางปะกง เป็นการระบายน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษา ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2554b) พบว่า หมู่บ้านที่มีค่าความอ่อนไหว (Sensitivity) สูงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว คือ บ้านคลอง 21 ตำบลดอนเกาะกา และบ้านคลองหกวา ตำบลดอนเกาะกา ในขณะที่หมู่บ้านที่มีความสามารถในการตั้งรับและปรับตัวสูง คือ ชุมชนบ้านประสิทธิ์สุข ตำบลบางขนาก นอกจากนี้ สุจริต คูณธนกุลวงศ์ (2553) ได้ศึกษาผลกระทบจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก พบว่า ในอนาคต ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลงร้อยละในช่วง 27.04 – 41.76 (เนื่องจากปริมาณฝนลดลง) และลุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่มีสภาพความขาดแคลนน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับ อำเภอบางน้ำเปรี้ยวจัดอยู่ในแนวเขตของแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก แผนพัฒนาเมืองบริวารกรุงเทพมหานคร นั้นคือ ในอนาคต ความเจริญทางเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนในอำเภอบางน้ำเปรียว โดยเฉพาะ ชุมชนเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคม และมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ง่าย ดังนั้นการศึกษาวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาดัชนีความเปราะบางในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนเกษตรกรในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในด้านปัจจัยเปิดรับทางภูมิอากาศ (Exposure) ความอ่อนไหว (Sensitivity) และมาตรการรับมือ (Coping Capacity) ตลอดจนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และความตระหนัก ให้แก่เกษตรกร เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของเกษตรกร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจ สังคม ในปัจจุบันและอนาคต และเสนอแนะแนวทางในการปรับตัวของชุมชนเกษตรกรในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และสังคมเหล่านั้น