ทับทิมอินเดีย : ทนแล้ง
แปลงทดลอง : ความทนแล้ง
ทับทิมอินเดียที่คุณอั๋น แห่ง countryhome banchaiyaphum
ทดลองนำไปปลูกที่ไร่ที่จังหวัดชัยภูมิ
ถือเป็นพืชที่น่าสนใจในการปลูกในพื้นที่แล้ง ขาดน้ำ มีเวลาดูแลน้อย
ไร่บานชัยภูมิของคุณอั๋นที่คุ้มเขาน้อย บ้านโนนเจริญ ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่บนเขา หน้าแล้งจะขาดน้ำมากๆ คุณอั๋นนำต้นไม้หลายอย่างไปปลูกไว้แบบธรรมชาติ เพราะทุนดูแลไม่ค่อยมี แต่ต้นไม้หลายอย่างก็ตายไปเยอะในหน้าแล้ง
ต่อมา คุณอั๋นได้พยายามปรับการปลูกโดยหาต้นไม้ที่จะทนแล้งได้ดีไปทดลองปลูกดู หนึ่งในต้นไม้ที่คุณอั๋นนำไปทดลองปลูกล่าสุด คือ "ทับทิมอินเดีย" เป็นการนำลงปลูกจากต้นเพาะเมล็ด ต้นที่นำลงปลูกเป็นต้นเล็กๆ เท่านั้น ปลูกเมื่อประมาณกรกฎาคม ๒๕๕๕ ขนาดภาพที่เห็นด้านบน ประมาณ ๘ เดือนเท่านั้น หากมีการดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยเพิ่มเติม คาดว่า ต้นจะโตไปเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ นับจากที่ปลูกมา ไม่ได้ดูแลอะไรมาก แล้งก็ปล่อยไปแบบนั้นเพราะขาดน้ำอยู่แล้ว เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่คุณอั๋นปลูกไม่กี่อย่างที่ทนแล้งแตกใบเขียวอยู่ท่ามกลางความแล้งแบบนี้ได้
หมายเหตุ :
1. ผู้สนใจจะทดลองนำทับทิมอินเดียไปทดลองปลูก ติดต่อสอบถามเรื่องต้นกล้าได้ที่น้องตู่ โทร. ๐๘๑ ๕๖๖ ๙๔๖๓
2. พืชทุกชนิดที่จะปลูก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไว้ทานเองหน้าบ้านหรือปลูกในเชิงเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีการบำรุงดูแลรักษาไว้บ้าง ส่วนจะมากหรือน้อยเป็นไปตามลักษณะเด่นของพืชนั้นๆ ที่ต้องการการดูแลมากน้อยแตกต่างกันไป กรณีของทับทิมอินเดียแม้จะเป็นพืชที่ทนและโตเร็วตามธรรมชาติ ปลูกง่าย ถึงกระนั้นก็ตาม หากสภาพดินและสถานที่ปลูกเหมาะสม มีการดูแลเรื่องวัชพืช ปุ๋ย โรคพืช (ที่เกิดได้กับไม้ทุกชนิด) การเจริญเติบโตน่าจะเร็วขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็น่าจะดีตามไปด้วย
3. การปลูกพืชชนิดใดก็ตาม โดยเฉพาะการปลูกในเชิงเศรษฐกิจ อย่าได้ปลูกตามกระแส เพราะเห็นคนอื่นปลูกแล้วมีรายได้งดงาม เพราะนั่นคือภาพปัจจุบันที่เรามองเห็น มีภาพบางส่วนที่อยู่เบื้องหลังที่เราอาจมองไม่เห็นอีกหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคและปัญหาก่อนจะสำเร็จได้ อย่าลืมมองอย่างรอบด้านในปัจจัยหลายๆ ส่วน เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของพืชนั้นๆ การบำรุงดูแลรักษา วัชพืชและโรค ความน่าสนใจของตลาด เป็นต้น ดังนั้น ผู้จะทดลองปลูกจำนวนมาก ควรพิจารณาดูองค์ประกอบเหล่านี้ไปด้วยก่อนการคิดปลูกในเชิงเศรษฐกิจ
Credit เนื้อหา :