โครงการ ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคตและการปรับตัวของภาคส่วนที่สำคัญ
จัดทำโดย: ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เครือข่ายวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอ เซียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เดือนปีที่พิมพ์: มกราคม 2554
บทนำ
ประเทศไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีพันธกรณีที่จะต้องจัดทำรายงานแห่งชาติเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับประเทศภาคีอื่นๆในอนุสัญญา ซึ่งการจัดทำรายงานดังกล่าวยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศอีกด้วย โดยที่หัวข้อที่สำคัญหัวข้อหนึ่งของรายงานแห่งชาติคือความหล่อแหลมและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Vulnerability and adaptation to climate change)
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้เริ่มมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเปราะบางและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาบ้างแต่ข้อมูลที่มีอยู่ยังมีค่อนข้างน้อยและไม่เป็นเอกภาพ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้เห็นภาพเชิงองค์รวมเพื่อนำเสนอในรายงานแห่งชาติสามารถทำได้เพียงในระดับที่จำกัด ดังนั้นการที่จะทำให้รายงานแห่งชาติที่จะนำเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาฯ มีเนื้อหาใสนระดับที่สมบูรณ์เพียงพอจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นมากกว่าการทบทวนและประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมเท่านั้น
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาที่ดำเนินการภายใต้กรอบโครงการ การศึกษาด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคตและการปรับตัวของภาคส่วนที่สำคัญซึ่งกำหนดให้ทำการวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต และประเมินผลกระทบความล่อแหลมเปราะบาง และแนวทางการปรับตัวในพื้นที่ตัวอย่างศึกษา ได้แก่ พื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำอย่างน้อย 1 ลุ่มน้ำ และพื้นที่ชายฝั่ง 2 พื้นที่ ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงเน้นการบูรณาความเปราะบางของภาคส่วนต่่างๆโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Place-based integrated approach) เพื่อให้ยุทธศาสตร์การปรับตัวและจัดการความเสี่ยงในอนาคตมีความเป็นเอกภาพและได้รับการยอมรับโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Chinvanno et al.2007) ดังนั้นการเลือกพื้นที่ศึกษาจึงต้องเชื่อมโยงประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในปัจจุบันและที่คาดว่าจะเป็นในอนาคตเข้าด้วยกัน มิใช่เป็นเพียงการปรับตัวของแต่ละภาคส่วนโดยอิสระซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอันไม่พึงประสงค์ในอนาคตได้ นอกเหนือจากนั้นการเปลี่ยนแปลงภูิอากาศในอนาคตในอนาคตอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประเทศรวมทั้งความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตามกรอบการพัฒนาแห่งสหวรรษ (MDG และ MDG+) ที่ประเทสไทยได้ให้คำมั่นไว้กับประชาคมโลกสำหรับปี ค.ศ.2015 ซึ่งการศึกษานี้ ก็ได้รวมถึงการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการพัฒนาประเทศไทยในบริบทของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษไว้ด้วยแล้ว ฯลฯ
ที่มาข้อมูล: http://www.onep.go.th (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์: http://www.onep.go.th/images/stories/file/NC_adaptation.pdf