Community-based adaptation

Thursday, 30 August 2012 Read 2556 times Written by 

 08082012727

การศึกษารูปแบบและแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชน

(Community-based adaptation)

ความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นปัญหาระดับโลกที่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนระดับท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบและมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยชุมชนในระดับรากหญ้า จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงลำดับต้น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยสาเหตุที่ว่าเป็นกลุ่มชนที่การดำรงชีวิตโดยรวมต้องพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตที่มีความเปราะบางสูงต่อภูมิอากาศ นอกจากนี้ ชุมชนระดับรากหญ้ายังมีศักยภาพและความสามารถในการปรับตัวต่อภัยคุกคามทางภูมิอากาศ ด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนเมืองและชุมชนอื่น ๆ เนื่องจากปัญหาพื้นฐานของการดำรงชีวิตและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนและคุณภาพชีวิต

การปรับตัวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือ Community-based adaptation (CBA) เป็นแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแนวทางหนึ่ง ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์ประกอบหลักที่สำคัญของกรอบแนวคิด CBA คือ องค์ความรู้ท้องถิ่น (Local knowledge) และเทคโนโลยีชุมชนอย่างง่าย (Appropriate community technology) ซึ่งจัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ยากจน เนื่องจากเป็นแนวทางที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่และเงินทุนจำนวนมาก อีกทั้งมีความสามารถตอบสนองต่อระดับความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553- 2562 ซึ่งจัดทำโดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บรรจุหัวข้อ CBA และยังได้เสนอแนะให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันการศึกษาดำเนินการขยายผลการศึกษาวิจัยกระบวนการ รวมทั้งรูปแบบและแนวทาง CBA ในบริเวณพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จสู่ชุมชนอื่น ๆ ในแต่ละภูมิภาค เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และกรณีตัวอย่างที่เหมาะสมภายใต้บริบทสังคมไทย ในรูปแบบ Collective adaptation action โดยผ่าน forum ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่มีความล่อแหลมสูง ดังนั้น ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการศึกษารูปแบบและแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชน โดยคัดเลือกพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนชายฝั่งของภาคตะวันออกเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้งนี้เพื่อนำผลศึกษาที่ได้ไปเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อใช้ในการกระตุ้นให้การดำเนินงานการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในลักษณะ Bottom up ในภูมิภาคอื่น ๆ เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการปรับตัวโดยชุมชน (CBA) ของชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนชายฝั่งในภาคตะวันออก
2.  เพื่อจัดทำแนวทาง (guideline) การบูรณาการรูปแบบ CBA ในพื้นที่นำร่องเข้ากับแผนพัฒนาขององค์กรส่วนท้องถิ่น

ขอบเขตของการวิจัย

1.  ขอบเขตด้านเนื้อหา
     การศึกษาครั้งนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมในส่วนรูปแบบและแนวทางการปรับตัวโดยชุมชน (CBA) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการศึกษาวิจัยในชุมชนนำร่องของภาคตะวันออก ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนประเภทชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนชายฝั่งในภาคตะวันออก และการจัดทำแนวทางการบูรณาการรูปแบบ CBA ที่ได้ทำการศึกษา เข้ากับแผนพัฒนาขององค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งนี้ การศึกษาและพัฒนารูปแบบและแนวทาง CBA อาศัยกรอบแนวคิดและกระบวนการผนวกองค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน (Participatory approach) ซึ่งเป็นกรอบการศึกษามาตรฐานสำหรับ CBA ที่ใช้กันในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นไทยในบริเวณภาคตะวันออก
2.  ขอบเขตด้านพื้นที่
     พื้นที่การศึกษาในครั้งนี้ เป็นชุมชนนำร่องในภาคตะวันออก จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนเกษตรกรรม จำนวน 2 แห่ง และชุมชนชายฝั่ง จำนวน 2 แห่ง โดยคัดเลือกบนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ-สังคม สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางภูมิอากาศและความพร้อมของชุมชน

เป้าหมาย

1.  รูปแบบและแนวทาง CBA ของชุมชนนำร่อง (เกษตรกรรมและชุมชนชายฝั่ง) ในภาคตะวันออก จำนวน 4 ชุมชน
2.  แนวทาง (guideline) การบูรณาการรูปแบบ CBA ในพื้นที่นำร่องเข้ากับแผนพัฒนาขององค์กรส่วนท้องถิ่น
3.  ตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวโดยชุมชนในพื้นที่นำร่องในบริบทภูมิปัญญาท้องถิ่น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.  รูปแบบและแนวทางการปรับตัวโดยชุมชน (CBA) ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นไทยในบริเวณภาคตะวันออก จำนวนชุมชนนำร่อง 4 ชุมชน
2.  แนวทางการผนวกกิจกรรมการปรับตัวในรูปแบบ CBA เข้ากับแผนพัฒนาชุมชนและส่วนท้องถิ่น
3.  ตัวอย่างที่ดี (Best practice) ของการปรับโดยชุมชนในพื้นที่นำร่องในบริบทภูมิปัญญาท้องถิ่น

กรอบแนวคิดและกระบวนการ Community-based adaptation (CBA)

การศึกษานี้ อาศัยกรอบแนวคิดและกระบวนการมาตรฐานสำหรับ CBA ที่ใช้กันในหลายประเทศ ดังเช่น ภายใต้โครงการ The UNDP-GEF Small Grant Programmer on Community-based Adaptation: Climate Change Adaptation in Action ทั้งนี้ เป็นการผนวกองค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน โดยมีขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย Diagnostic, Evaluation, Action และ Monitoring ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าว ดังนี้ การสำรวจข้อมูลพื้นฐาน คัดเลือกชุมชนนำร่องโดยพิจารณาจากบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคม การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อประเมินความต้องการ ศักยภาพและความล่อแหลมของชุมชน ด้วยเทคนิคและวิธีการการมีส่วนร่วม เช่น Focus group, Group consultation/discussion, Seasonal calendar, Community mapping, Ranking และ Stakeholder analysis รวมทั้งวิธีการวิจัยโดยชุมชนซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นการวิเคราะห์ประเด็นปัญหา สังเคราะห์และพัฒนาทางเลือกการปรับตัวที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการวิเคราะห์/ประเมินในเชิงปริมาณ ได้แก่ การวิเคราะห์ความล่อแหลมและการประเมินความเสี่ยงของชุมชน (Community-level Vulnerability Analysis and Risk Assessment) ในแง่การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน และการประเมินความสามารถในการปรับตัวของชุมชนในปัจจุบัน

นิยามศัพท์เฉพาะ

  • สภาพอากาศ (Weather) หมายถึง เหตุการณ์ภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในอนาคต    อันใกล้ อาทิ การเกิดเหตุการณ์ฝนตก พายุ น้ำท่วมในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า
  • ภูมิอากาศ (Climate) หมายถึง ค่าเฉลี่ยของปัจจัยภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิปริมาณน้ำฝนในช่วง 10 ปี
  • ความแปรปรวนของภูมิอากาศ (Climate Variability) หมายถึง ลักษณะของอากาศที่มีการเบี่ยงเบนไปจากค่าปกติ ซึ่งใช้ระยะเวลาเป็นรายปีจนถึงหลายสิบปี เช่น สภาวะความแห้งแล้งที่มีความผันแปรในแต่ละฤดูกาลของแต่ละปี สภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัดที่มีความผันแปรในระยะเวลาหนึ่ง
  • การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันทำให้ส่วนประกอบของบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
  • ภัยพิบัติ หมายถึง เหตุการณ์ทางกายภาพที่เกิดจากความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย พายุและเหตุการณ์ฝนตกหนัก ผลลัพธ์ของภัยพิบัติทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และการสูญเสียด้านเศรษฐกิจ
  • ความสามารถในการตั้งรับและปรับตัว (Adaptive Capacity) หมายถึง ความสามารถของชุมชนในการตอบสนองและปรับตัวต่อการเผชิญกับปัจจัยคุกคามเพื่อลดความเสียหาย ในขณะเดียวกันมีการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งการตั้งรับและปรับตัวเข้ากับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

ตัวอย่างการดำเนินงานในพื้นที่

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาภายใต้หัวข้อเรื่อง การศึกษารูปแบบแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชน กรณีศึกษา ชุมชนเกษตรและชุมชนชายฝั่งบริเวณภาคตะวันออก โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนในพื้นที่บริเวณตำบลหนองซ้ำซาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้คณะวิจัยฯ ได้ใช้กระบวนการคัดเลืกชุมชนผ่านองค์ประกอบหลักของความล่อแหลมทางด้าน Exposure & Hazard, Socioeconomic-ecological fragility และ Coping capacity ซึ่งประเมินจากโปรแกรม PREvalent Community Climate Change Vulnerability Tool (ERCCC) ความพร้อมและศักยภาพของชุมชน และปัจจัยพื้นฐานของชุมชนในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลประกอบด้านอื่นๆ เช่น ลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดประชุมกลุ่ม (Focus Group) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินความล่อแหลมและความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางภูมิอากาศอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนแต่ละแห่ง โดยใช้เครื่องมือ ‘Participatory Tools and Techniques for Assessing Climate Change Vulnerability and Exploring Adaptation Option’ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย

mix2

  • การจัดทำแผนที่ภัยพิบัติทางภูมิอากาศ  (Climatic Hazard Mapping)
  • ปฏิทินฤดูกาล (Seasonal Calendar)
  • การจัดลำดับความสำคัญของภัยพิบัติทางภูมิอากาศ (Climatic Hazard Ranking)
  • การวิเคราะห์ความล่อแหลมและจัดทำเมตริกซ์ความล่อแหลม (Vulnerability Assessment/Matrix)
  • การประเมินศักยภาพการตั้งรับและปรับตัว (Coping and Adaptation Strategies Assessment)
  • การวางแผนการปรับตัวโดยชุมชน (Community-based Adaptation Planning)
  • บัตรบันทึกคะแนน (Score Card)

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ: ดร.อัศมน ลิ่มสกุล

ตำแหน่ง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ

ส่วนวิจัยนิเวศเศรษฐศาสตร์และสังคม

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โทร 02-5774198 ต่อ 1129

โครงการ

โครงการบรรเทาการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก จากภาคเกษตรด้วยสารยับยั้งไนตริฟิเคชั่น
ชุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
โครงการพัฒนาโมเดลต้นแบบ การจัดการขยะชุมชนต้านภัยโลกร้อนระดับจังหวัด
โครงการพัฒนาดัชนีความร้อน และการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์ประมวลผลปริมาณคาร์บอนในป่าและต้นไม้
ชุดโครงการศึกษาความตระหนักรู้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในบริบทของความตกลงปารีส

เครื่องมือ

โปรแกรมประมวลผลดัชนีความร้อน สำหรับประเทศไทย
โปรแกรมการวิเคราะห์ และประมวลผลดัชนีความล่อแหลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ระบบเตือนภัยความร้อนและหมอกควัน
MCCAI ดัชนีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล
GHG-3Rs
แบบสอบถามออนไลน์: CCAI

ดัชนี

Ncar
Ncar
SOI Annual
Multivariate ENSO
Indian Summer and Western North Pacific Monsoon Index
Blank

ปริมาณคาร์บอน

ปริมาณคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนทั่วโลก
index-carbon
Carbon Market
Point Carbon
Blank

ภูมิปัญญา

Biogas
ภูมิปัญญา
ระบบข้อมูลพื้นที่สีเขียวและป่านิเวศในเมือง
โครงการศึกษาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อยางพาราในประเทศไทย
Blank
Blank