รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง
ความสามารถในการทำให้โลกร้อน ของก๊าซเรือนกระจกจะวัดกันด้วยอะไรดี
ระหว่างวันที ๓ – ๔ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสในการเข้าร่วมประชุมที่มีชื่อว่า “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องหน่วยวัดกลางที่ใช้ในการคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากแหล่งปล่อยและแหล่งดูดกลับที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์” (Workshop on common metrics to calculate the Co2 equivalence of anthropogenic greenhouse gas emissions by sources and removals by sinks) โดยสำนักเลขาฯของอนุสัญญา UNFCCC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักนโยบายและนักวิทยาศาสตร์ได้มาพูดคุยและวิเคราะห์กันว่า เรามีแนวทางในการปรับปรุง “หน่วยวัดความสามารถในการทำให้โลกร้อนของก๊าซเรือนกระจก” ที่เป็นหน่วยวัดกลางให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อประเทศไทย ก็เลยถือโอกาสนี้นำบรรยากาศและข้อคิดเห็นจากการประชุมดังกล่าวสู่กันฟัง
ภายใต้การตกลงของอนุสัญญาฯประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต้องส่งรายงานเพื่อแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ UNFCCC เป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามก๊าซเรือนกระจกนั้นมีหลากหลายชนิดและแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ จึงมีคำถามว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้จะสามารถแสดงด้วยหน่วยวัดเดียวกัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้หรือไม่คำถามเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะสาระหลักของอนุสัญญาฯ คือ ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ดังนั้นจึงต้องการมีกำหนดเป้าหมายและแบ่งความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อประมาณกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว IPCC ได้เสนอให้ใช้คำว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalence หรือ CO2e) เป็นหน่วยวัดกลาง โดยให้สามารถแปลงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ ให้มาอยู่ในรูปของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ในทางปฏิบัติค่า CO2e นี้มีประโยชน์มากเพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประเทศต่างๆสามารถดำเนินการลดหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดใดก็ได้ แต่สามารถแปลงมาเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยคูณปริมาณก๊าซเรือนกระจกนั้นๆด้วยค่าเรียกว่า ค่าศักยภาพทำให้โลกร้อน (Global warming potential) หรือเรารู้จักกันในชื่อย่อว่าค่า GWP นั่นเอง
ค่า GWP จึงมีความสำคัญมาก เพราะว่าเรานำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เราจึงต้องมั่นใจว่า ที่มาที่ไปของการคำนวณค่า GWP นี้ถูกต้องตามหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดเท่าที่จำทำได้ ความผิดพลาดในการกำหนดค่า GWP ของก๊าซเรือนกระจกอาจส่งผลใหญ่หลวงต่อความสามารถในการแก้ปัญหาโลกร้อนของโลกใบนี้เลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันประชาคมโลกตกลงร่วมกันว่าจะต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน ๒ องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์สามารถแปลงค่า ๒ องศาเซลเซียสให้อยู่ในรูปของปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมที่โลกจะต้องช่วยกันลด ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ว่านี้โดยความจริงก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ถ้าค่า GWP ไม่ถูกต้อง จะทำให้เรามีความเสี่ยงในการควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิของโลกได้
ในการประชุมได้มีการถกเถียงถึงหน่วยวัดใหม่ที่เป็นไปได้ทางทฤษฎี เช่น หน่วยวัดที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก (Global temperature change potential,GTP) หน่วยวัดที่คิดรวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Global cost potential,GCP) หรือหน่วยวัดความเสียหายจากผลกระทบ (Global damage potential,GDP) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอหน่วยวัดอื่นๆอีก เช่น การใช้ค่าการเพิ่มต้นของระดับน้ำทะเล การใช้ค่าที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างของมหาสมุทร
บางคนเสนอว่าใช้ค่า GWP เดิมดีแล้ว แต่อาจปรับปรุงโดยใช้ค่าที่แท้จริงของก๊าซแต่ละชนิดโดยไม่ต้องเทียบเท่าก๊าซ CO2
บางคนเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยวัดกลางแต่ใช้ปริมาณการปล่อย/ดูดกลับของก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดโดยตรงได้เลย (แต่จะมีปัญหาเรื่องการเปรียบเทียบปริมาณในกรณีที่เป็นก๊าซต่างชนิด)
จากการนำเสนอข้อมูลล่าสุด พบว่า หน่วยวัดกลางที่มีศักยภาพและมีคุณภาพเทียบเคียง GWP ของเดิมที่ใช้กันอยู่คือ GTP แต่ถ้ามีการปรับใช้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก ปัญหาที่เกิดแน่ๆ คือ ผลกระทบต่อโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean development mechanism) หรือโครงการ CDM ที่เรารู้จักกันดี โครงการ CDM เป็นกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯในบริบทของพิธีสารเกียวโตที่อนุญาตให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันได้ และหน่วยของหนึ่งคาร์บอนเครดิตคือหนึ่งจันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าบนฐานของค่า GWP นั่นเอง เนื่องจากค่า GTP ของก๊าซเรือนกระจกบางชนิด เช่น ก๊าซมีเทนที่มีค่า GWP เท่ากับ ๒๑ จะมีค่า GTP เท่ากับ ๔ ถ้าโครงการ CDM นั้นืเป็นการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน เช่น จากโรงเลี้ยงหมูหรือการจัดการของเสียต่างๆการเปลี่ยนมาใช้ค่า GTP จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้เปลี่ยนไปทันที เช่น เดิมโครงการฯสามารถลดได้ ๑๐๐ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและถ้าประเทศนั้นเน้นการลดก๊าซมีเทนก็จะสูญเสียเงินรายได้จากโครงการ CDM อย่างมาก
นอกจากนี้ ก็จะทำให้การลงทุนหรือความสนใจของนักลงทุนหันเหไปลดก๊าซอื่นๆแทนการลดก๊าซมีเทน ทั้งๆที่การลดการปล่อยก๊าซมีเทนมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระยะสั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยังจะมีผลต่อการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ เช่นในประเทศที่ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน สัดส่วนการปล่อยก๊าซมีเทนต่อการปล่อยรวมของประเทศนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ ของโลกก็จะเปลี่ยนไป นโยบายการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงของการใช้หน่วยวัดกลางนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่ละหน่วยวัดที่นักวิทยาศาสตร์เสนอมานั้น มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยวัดใดได้รับการพิสูจน์ว่าดีกว่า GWP ดังนั้นถึงแม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ GWP ก็ยังใช้งานได้ดี
หลักจากการประชุมครั้งนี้ UNFCCC จะนำผลการประชุมเข้าปรึกษาหารือในการประชุมใหญ่ของอนุสัญญาฯ(COP) ครั้งต่อไป และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ น่าจะมีผลต่อจุดยืนและแนวทางการเจรจาโลกร้อนของไทย จึงควรมีการศึกษาว่า ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหน่วยวัดก๊าซเรือนกระจกแบบต่างๆจะเกิดอะไรขึ้นกับการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และหน่วยวัดไหนเหมาะที่สุดในบริบทของประเทศเรา