อากาศร้อนขึ้น น้ำระเหยมากขึ้น หรือระเหยน้อยลง
หน้าฝนน้ำท่วม หน้าร้อนน้ำแล้ง อะไร ๆ ก็ดูจะเกิน ๆ ไปในทางตรงข้ามกับความต้องการของเรา ถ้ามีน้ำมาก ๆ แล้วเราเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้เพียงพอก็ดีน่ะสิ แต่...ถ้าเก็บน้ำไม่ถูกวิธี และอากาศร้อน น้ำก็จะระเหยหายไป ต่อให้ฝนตกหนักก็ไม่ได้แปลว่าจะเก็บน้ำไว้ใช้ได้มาก
การที่น้ำระเหยไปนี้ นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า การคายระเหย การคายระเหยของน้ำที่ระดับผิวดินเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งในวัฏจักรของอุทกวิทยา เมื่ออัตราการระเหยน้ำมากขึ้น ระบบนิเวศจะสูญเสียน้ำไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝนตกบ่อยขึ้นเนื่องจากไอน้ำในบรรยากาศควบแน่นเป็นฝนไวขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ฝนตกหนักจนเกิดน้ำไหลบ่าและน้ำท่วม หน้าดินถูกชะล้างพังทลาย น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ขุ่นมากขึ้น พืชคายน้ำมากขึ้นจนพืชขาดน้ำ และมีปัญหาอื่น ๆ อีก เดิมทีคาดว่าการเกิดภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายปีสูงขึ้นจะทำให้อัตราการระเหยน้ำมากขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา แนวโน้มของค่าการระเหยน้ำของหลายประเทศมีค่าลดลงตั้งแต่ 1 – 4 mm a-2 (i.e.. mm per annum per annum) เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และอิตาลี ซึ่งเป็นความย้อนแย้งของค่าการระเหยน้ำ หรือ ‘Pan evaporation paradox’ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศและขัดแย้งกับหลักทฤษฎีที่ว่า ความชื้นของอากาศหรือไอน้ำ จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ เนื่องจากมวลอากาศแห้งจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีจุดอิ่มตัวของความดันไอสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีความสามารถในการรองรับความชื้นและไอน้ำเพิ่มขึ้น
นักวิจัยศึกษาอัตราการระเหยน้ำของประเทศไทย จากสถานีตรวจวัดอากาศ 28 แห่ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1970 – 2007 พบว่าอัตราการระเหยน้ำรายปีค่อย ๆ ลดลง โดยมีค่าเฉลี่ย 7.7 mm a-2 ส่วนอุณหภูมิบรรยากาศเฉลี่ยรายปีสูงขึ้น 0.91 องศาเซลเซียส (0.024 องศาเซลเซียสต่อปี) เมื่อพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าอัตราการระเหยน้ำรายปีที่ลดลง น่าจะมาจากความเร็วลมที่ลดลง และบางส่วนมาจากช่วงเวลาที่มีแดดลดลง ในขณะที่แรงดึงน้ำระเหยของอากาศมีค่าเพิ่มขึ้นและความชื้นสัมพันธ์มีค่าคงที่ ซึ่งไม่มีผลต่อค่าอัตราการระเหยน้ำ
ผลวิจัยนี้ตรงข้ามกับความคาดหมาย การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับอากาศพลศาสตร์และปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ จะส่งผลต่อวัฏจักรน้ำและเชื่อมโยงถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและธรรมชาติในประเทศไทย แต่จะมีผลอย่างไรบ้างนั้น จำเป็นต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป
อ้างอิง : Limjirakan, S., & Limsakul, A. (2012). Trends in Thailand pan evaporation from 1970 to 2007. Atmospheric Research, 108, 122-127.
Photo by Climate News Network